parallax background
 

จากคัมภีร์ถึงหลุมศพ :
เรียนรู้เรื่องความตาย
ในมิติศาสนาคริสต์ อิสลาม

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ข้ามพรมแดนศาสนาเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แม้จะเป็นสิ่งที่ดีงาม ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่มีประเด็นสำหรับการเรียนรู้ร่วมกัน

แต่ความตายเป็นประเด็นสากลที่ทุกคนต้องพบเจอไม่ว่าจะสังกัดศาสนาใด เครือข่ายพุทธิกา จึงเชิญชวนผู้ผ่านกิจกรรมในแผนงานเผชิญความตายอย่างสงบ มาร่วมเดินทางสัญจร เรียนรู้เรื่องความตายในมิติศาสนาคริสต์ อิสลาม เป็นเวลา 1 วันเต็ม

กิจกรรมในภาคเช้า พวกเราได้รับเกียรติจากมัสยิดต้นสน เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ให้เข้าไปฟังบรรยายถึงในสุเหร่าที่เย็นสบาย สวยงาม ปกติจะใช้เฉพาะการสวดมนต์ทำละหมาดของชาวมุสลิมเท่านั้น แต่สำหรับการเรียนรู้ข้ามศาสนา ทางมัสยิดเห็นว่าเป็นสิ่งที่งดงามและควรจัดให้เกิดขึ้นบ่อยๆ

เราเพิ่งเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วการฝังศพของชาวมุสลิมก็มิได้ต้องรีบทำให้เสร็จอย่างเด็ดขาดใน ๒๔ ชั่วโมง อย่างที่เราเข้าใจ หากแต่ให้รีบฝังให้เสร็จให้เร็วที่สุดเท่าที่จำเป็น หลังจากทำการพิสูจน์ความยุติธรรมเรียบร้อยดีแล้ว

เราได้เรียนรู้ว่า การระลึกถึงความตายก็เป็นคติที่ปฏิบัติกันในชาวมุสลิมเช่นกัน เช่น การได้ไปนอนในหลุมศพขณะที่ยังมีชีวิต (คล้ายกับการลงไปนอนโลงเพื่อเจริญมรณานุสติของชาวพุทธ) การเตรียมผ้าห่อศพสำหรับตัวเองขณะที่ยังสุขสบาย ก็เป็นการปฏิบัติที่ดี เพื่อลดอหังการ์ ยึดมั่นในตัวตน

กิจกรรมสุดท้าย เราได้เข้าไปเยี่ยมเยียนกุโบ (สุสาน) เพื่อศึกษาธรรมเนียมการฝังศพ สำหรับชุมชนแห่งนี้ หากมีใครเสียชีวิตก็จะนำมาฝังไว้เรียงรายล้อมสุเหร่า

เราฟังวัฒนธรรมและคติธรรมของชาวมุสลิมปากหลุมศพด้วยความเคารพ สอดคล้องกับคำสอนในพระคัมภีร์ที่ว่า "จึงศึกษาหาความรู้ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงหลุมศพ"

ตอนบ่าย เราใช้เวลาอย่างเต็มอิ่ม ฟังคติความเชื่อเกี่ยวกับความตายของศาสนาคริสต์ ที่วัดซางตาครู้ส ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากมัสยิดต้นสน บรรยายอย่างเบิกบานโดยบาทหลวงเจ้าอาวาส

"ท่านไม่ต้องกังวลหรอกว่าท่านจะตาย เพราะคนที่เกิดก่อนท่านก็ตายไปแล้ว คนที่เกิดหลังท่านก็ต้องตายเช่นกัน" ผมไม่รู้ว่าทำไมจึงหัวเราะกับภาษิตนี้ แต่คุณพ่อและผู้เข้าร่วมก็หัวเราะเช่นกัน

เราได้เรียนรู้ว่าพิธีศพของชาวคริสต์ มีวัตถุประสงค์คือช่วยเหลือผู้จากไปด้วยการทำพิธีมิสซาเป็นครั้งสุดท้าย ทำความดีเพื่ออุทิศกุศล ขอให้พระเจ้าให้เมตตาผู้วายชนม์ ยอมรับวิญญาณของผู้ตายไปอยู่ร่วมในดินแดนของพระองค์

ดังนั้น การตายดีในมุมมองของชาวคริสต์ ก็คือชีวิตหลังความตายที่ได้กลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้านี่เอง โลกทัศน์เช่นนี้จึงช่วยให้ศาสนิกดำรงตนตามพระบัญญัติ คือหมั่นทำความดี ขัดเกลาตัวเองไม่ให้ตกไปอยู่ในอารมณ์ที่เป็นบาป

เมื่อยามผู้ป่วยใกล้ตาย ผู้ใกล้ชิดยังสามารถช่วยผู้ใกล้ตายด้วยการบอกทาง น้อมใจให้ระลึกและมั่นใจในพระองค์ ปล่อยวางชีวิตในโลกนี้ เตรียมเดินทางกลับไปใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าตราบนิรันดร์ ก็ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญความตายอย่างสงบได้เช่นกัน

พวกเรายังได้ซักถามแลกเปลี่ยนถึงคติเกี่ยวกับชีวิตและวิถีของพระสงฆ์ในศาสนา คริสต์ ช่างสนุกและน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ยากเลยที่มิตรภาพระหว่างศาสนาจะเบ่งบานท่ามกลางในห้องเรียนที่มีรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ

[seed_social]
4 เมษายน, 2561

ลดความปวดด้วยพลังความคิด

ความปวดเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของคนที่เจ็บป่วย การที่เราหาหนทางต่างๆ นานา ในการรักษาบำบัดความเจ็บป่วย ส่วนหนึ่งเพราะไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บได้
20 เมษายน, 2561

กรมคุ้มครองสิทธิฯ เสนอ ‘พินัยกรรมชีวิต สิทธิการตาย’ อุ้มผู้ป่วยระยะสุดท้าย

สช.จับมือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กระตุ้นสังคมให้เห็นความสำคัญของการแสดงเจตนาที่จะตายอย่างสงบ เป็นทางเลือกให้แพทย์ตัดสินใจสำหรับแนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย
13 เมษายน, 2561

10 ปี คิลานธรรม

การศึกษาและปฏิบัติขัดเกลาตัวเองตามหลักพุทธธรรม เพื่อพัฒนาจิตใจให้เป็นอิสระ รวมถึงเป็นแบบอย่างและช่วยเหลือผู้คนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นแนวทางการใช้ชีวิตตามอุดมคติของพระสงฆ์มาแต่พุทธกาล