parallax background
 

งานศพนี้ไม่มีสีดำ
สำรวจงานศพที่ออกแบบ
ตามความประสงค์สุดท้ายของผู้เสียชีวิต

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ขนบธรรมเนียมในการประกอบพิธีศพมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของมันอยู่เสมอตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งพิธีศพของคนไทยไม่นิยมไว้ทุกข์โดยการแต่งดำล้วน แต่กระทำโดยสวมชุดสีขาว ดำ ม่วงแก่ น้ำเงินแก่ ตามลำดับอายุของผู้ไว้ทุกข์กับผู้เสียชีวิต ในขณะที่ปัจจุบันนิยมไว้อาลัยโดยการแต่งดำทุกชั้นอายุเท่านั้นหรือในพิธีกงเต็กของชาวจีนในอดีตก็ไม่ปรากฏธรรมเนียม การเผาบ้านกระดาษ รถกระดาษเพื่อส่งไปให้ผู้ตายในโลกหน้านี้แต่ประการใด

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆ ในพิธีศพนั้นจึงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในวันวานและสามารถเกิดขึ้นได้ในวันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปรับเปลี่ยนภายใต้ความประสงค์สุดท้ายของผู้เสียชีวิต เพราะนอกจากจะนำความสบายใจมาสู่ผู้เสียชีวิตและญาติสนิทเองแล้ว ความประสงค์เหล่านี้ยังเป็นเสมือนสาส์นสุดท้ายที่ผู้ตายทิ้งเอาไว้บนโลกใบนี้อีกด้วย

การออกแบบงานศพตามความประสงค์ของผู้เสียชีวิตเคยเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ในสังคมไทย ?

ต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2562 ณ วัดบึงทองหลาง ศาลา 12 เวลาย่ำสนธยา ปรากฏงานศพที่หากมองอย่างผิวเผินแล้วไม่แตกต่างไปจากงานศพทั่วไปแต่ประการใด ทว่าหากพิจารณาอย่างละเอียดก็จะพบว่าผู้ที่มาร่วมงานไม่ได้สวมชุดสีดำตามธรรมเนียมไว้ทุกข์ ไว้อาลัยกับผู้เสียชีวิต เจ้าภาพงานศพไม่รับซองเป็นเงินแต่รับเป็นหนังสือ และภายในศาลาก่อนสวดพระอภิธรรมยังเปิดเพลง ‘หนิงหน่อง’ของ สังข์ทอง สีใส อีกด้วย

นางสาวชลธาร ตันชรากรณ์ เล่าว่า สิ่งที่ปรากฏในงานเป็นความต้องการของ นายภรินทร์ ตันชรากรณ์ หรือพ่อผู้เสียชีวิตของเธอ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่พูดคุยกันไว้ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยพ่ออยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในงานศพของตัวเอง

• ขอให้มีพิธีสวด 5 วัน ตามจำนวนคนในครอบครัวและขอเลือกวัดทำพิธี รวมถึงที่เก็บกระดูกของตัวเอง • ขอให้เปิดเพลง หนิงหน่อง ของ สังข์ทอง สีใส และขอไม่ให้มีการไว้ทุกข์เพราะความตายไม่ใช่เรื่องทุกข์ ดังนั้นจึงสวมชุดสีใดเข้าร่วมพิธีก็ได้ แต่ไม่ให้ใส่สีดำ • ขอเลือกภาพทะเลซึ่งให้ความรู้สึกถึงความอิสระลงบนโปสการ์ดที่ใช้เป็นของชำร่วย ภายในรูปภาพมีประโยคหนึ่งซึ่งมาจากเพลง Something good ของวง นั่งเล่น ที่พ่อมักจะบอกกับครอบครัวอยู่เสมอว่า ‘ทุกๆ วันอาจไม่ใช่วันดีๆ แต่ก็มีสิ่งดีๆ ในทุกๆ วัน’ เป็นของชำร่วย • นอกจากโปสการ์ดแล้ว ให้แจกหนังสือแสงสุดท้ายของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ที่พ่อชื่นชอบ เป็นของชำร่วยภายในงานอีกด้วย

ความเป็นมาในการออกแบบงานศพของตัวเอง

งานศพคุณพ่อภรินทร์ ตันชรากรณ์ เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือน เมษายน 2562 แต่วันเวลาที่ครอบครัว ตันชรากรณ์ ทราบว่าคุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะลุกลามนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 นั่นหมายความว่าครอบครัว ตันชรากรณ์ มีเวลาไม่ถึง 4 เดือนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวาระสุดท้าย

แม้ว่าครั้งหนึ่งคุณพ่อเคยเข้าร่วมกิจกรรม Happy death day ของพระไพศาล วิสาโล กิจกรรมที่ชวนใคร่ครวญเกี่ยวกับวาระสุดท้ายและเคยได้รับสมุดเบาใจมาเล่มหนึ่ง แต่ภายหลังปรากฏว่าสมุดเบาใจเล่มดังกล่าวหายไป

นั่นทำให้การเตรียมความพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

“มะเร็งของพ่อก็อยู่ในระยะที่ไม่ไหวแล้ว ในขณะที่พี่น้องของเราก็หาสมุดเบาใจของแกไม่เจอ เราก็เลยตัดสินใจว่า ต้องคุยเรื่องวาระสุดท้ายกับพ่อให้ได้” ชลธาร ตันชรากรณ์ กล่าว แม้ว่าตามธรรมเนียมทั่วไปของครอบครัวเชื้อสายไทย - จีน บทสนทนาเกี่ยวกับความตายมักถูกมองว่าเป็นเรื่องอัปมงคล และถูกเก็บไว้ในซอกลึกของใจเสมอ คุณพ่อภรินทร์ ตันชรากรณ์ (ผู้เสียชีวิต) ก็เคยเป็นคนหนึ่งที่ยึดถือธรรมเนียมปฏิบัตินี้เช่นกัน แต่สุดท้ายครอบครัว ตันชรากรณ์ ก็สามารถพาคุณพ่อวางความเชื่อดังกล่าวลง และได้พูดคุยถึงความต้องการของท่านเกี่ยวกับช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตได้

“เราเริ่มคุยเรื่องพวกนี้ตั้งแต่พ่ออยู่โรงพยาบาลเลยนะ เพราะไม่รู้ว่าเรื่องนั้นจะมาวันไหน ความจริงพ่อถือความเชื่อของคนจีนโบราณที่ว่า การพูดเรื่องความตายเป็นการสาปแช่งตัวเองเหมือนกัน

“แต่เราก็คุยในลักษณะติดตลก ไม่จริงจัง คุยแบบทีเล่นทีจริง พอเจอบทสนทนาลักษณะนี้ พ่อเขาก็คลาย ยังเล่นมุขตอบกลับเรามาด้วยเหมือนกัน เช่น ขอให้เปิดเพลง ‘หนิงหน่องนวลน้องนั้นมาเมื่อไหร่’ ในศาลาทำพิธี

“จากนั้นพอเริ่มคุยได้ลึกขึ้นเราก็เริ่มยิงคำถามต่างๆ เกี่ยวกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในงานศพ เช่น การไว้ทุกข์ พ่อตอบเราว่าไม่ให้ไว้ทุกข์เพราะมันไม่ใช่เรื่องทุกข์ เราก็ถามแกไปอีกว่าจะให้สวดกี่วัน ... คุยกันไปจนถึงวันเผาเลยว่าอยากให้ของชำร่วยเป็นหนังสือของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ที่แกชอบ

“เราเริ่มต้นแบบทีเล่นทีจริง แต่ทั้งพ่อและเราต่างก็รู้กันอยู่ในทีว่าเป็นบทสนทนาแบบจริงจัง” ชลธาร ตันชรากรณ์ กล่าว

บทสนทนาเรื่องการออกแบบงานศพตัวเองของคุณพ่อภรินทร์ ตันชรากรณ์ (ผู้เสียชีวิต) กับครอบครัวเกิดขึ้นได้ เพราะลูก ๆ กล้าเปิดใจพูดคุยถึงสิ่งที่ท่านต้องการอย่างแท้จริง พูดคุยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเข้าใจ ใส่ใจความรู้สึกความต้องการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ จึงทลายความกังวลใจในความเชื่อเรื่องอัปมงคลลงได้

คุณค่าออกแบบได้

แม้รูปแบบการจัดงานศพของคุณพ่อภรินทร์จะมีความแตกต่างขนบธรรมเนียมทั่วไป แต่ก็เป็นการแตกต่างที่ไม่ได้ปรากฏเรื่องเสียหายประการใดเลย แถมยังมีคุณประโยชน์ต่างๆ ดังปรากฏภายในงาน ตัวอย่างเช่น ลูกและญาติสนิทพร้อมใจกันจัดงานโดยไม่มีความขัดแย้งหรือเห็นต่างใดๆ เพราะต้องยึดเอาคำสั่งเสียของผู้เสียชีวิตเป็นใจความสำคัญ ลูกหลานเกิดความสบายใจที่ได้ทำคำขอสุดท้ายของผู้เสียชีวิตสำเร็จ หรือ หนังสือที่รับแทนซองเงินจากผู้อาลัย สุดท้ายได้ถูกนำไปบริจาคให้แก่สำนักสงฆ์และโรงเรียนเด็กเล็กจังหวัดชัยภูมิ (รวมทั้งสิ้น 1,973 เล่ม) ซึ่งเป็นบุญกุศลกับทั้งญาติมิตรสหายที่มีชีวิตอยู่ ผู้ล่วงลับและผู้เข้าร่วมอาลัยอีกด้วย

งานศพที่ออกแบบจากความต้องการของตัวผู้เสียชีวิตเอง นับเป็นทางเลือกใหม่อีกประการของผู้ที่ต้องการเตรียมพร้อมในช่วงระยะท้ายของชีวิต แม้จะเป็นการเปลี่ยนไปจากขนบเดิมบ้าง แต่ก็ยังประโยชน์ให้เกิดและไม่มีข้อเสียหายแต่ประการใดเลย

*หมายเหตุ งานศพของคุณพ่อภรินทร์ ตันชรากรณ์ เกิดขึ้นที่วัดบึงทองหลาง ศาลา 12 วันที่ 18 - 22 เมษายน 2562 มีครอบครัวตันชรากรณ์เป็นผู้จัดงาน ทั้งนี้ผู้เขียนขอขอบคุณคุณชลธาร ตันชรากรณ์และครอบครัวตันชรากรณ์ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.silpa-mag.com/history/article_3358 http://www.tcdc.or.th/articles/others/14952/#-กงเต็ก-พิธีกรรมเชื่อมความตายและคนเป็น

19 เมษายน, 2561

การให้อภัยผู้อื่น เพื่อลดปัญหาทางกายหรืออาการปวดของตนเอง

บางทีเราเจอผู้ป่วยที่มีปัญหาคาใจเรื่องการให้อภัย แล้วคนที่เป็นพยาบาลมีเวลาเจอกับผู้ป่วยไม่มาก จะมีเทคนิคง่ายๆ ที่พระคุณเจ้าจะให้คำแนะนำในเรื่องการให้อภัยผู้อื่นเพื่อลดปัญหาทางกายหรือว่าอาการปวดที่ตัวเองมีอย่างไรดี
19 เมษายน, 2561

เยียวยาด้วยใจรัก

“มีพบย่อมมีพลัดพราก หรือจากลา” เป็นคำที่เราคุ้นหู หรือได้ยินบ่อยๆ ซึ่งในยามปกติเราอาจจะไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อคำพูดนี้ หรืออาจจะรู้สึกว่า เออ ก็จริงนะ แต่เมื่อเกิดความสูญเสียกับเรา เราจะรู้สึกทันทีว่า “จริง”
28 พฤศจิกายน, 2560

ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่เรากลัวของคนในสังคมปัจจุบัน คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆ คือความเหงา ไร้คุณค่า