parallax background
 

คุยกับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
วันที่ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

เคยมีคนกล่าวว่าความเท่าเทียมที่แท้จริงบนโลกมนุษย์นั้นไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม แต่มันคือความตาย ผมเคยบูชาประโยคดังกล่าวจนกระทั่งได้รู้จักกับพี่สาวคนหนึ่ง เธอมีอายุเพียงแค่ 24 ปี ผมพบกับเธอในค่ายวรรณกรรมและปัจจุบันเราต่างก็อัพเดทชีวิตของกันและกันผ่านโลกโซเชี่ยว

สำหรับพี่สาวคนนี้ ถ้าหากใครได้รู้จักเธออย่างผิวเผิน (เหมือนครั้งที่ผมรู้จักเธอแรกๆ) จะพบว่าเธอไม่มีอะไรแตกต่างจากคนสุขภาพดีทั่วไปเลย แต่ถ้าได้รู้จักเธอจริงๆ ความเชื่อว่าเธอสุขภาพดีนั้นก็ ‘พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ’ โดยทันที เพราะพี่สาวของผมคนนี้ เธอป่วยเป็น ‘มะเร็งระยะสุดท้าย

พี่สาวคนนี้มีชื่อว่าน้ำทิพย์ ครั้งที่ผมรู้ว่าพี่น้ำทิพย์ป่วยเป็นโรคร้าย เวลานั้นเองที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า แท้จริงแล้ว ความตายของมนุษย์นั้นไม่เกี่ยวพันใดๆ กับความเท่าเทียมเลย เพราะมนุษย์ปกติอย่างผมสามารถอุทธรณ์ชีวิตให้ยืดออกไปด้วยการหมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่ถูกสุขอนามัยได้ แต่กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว ดูเหมือนความตายจะปฏิเสธคำอุทธรณ์แทบทุกใบของพวกเขา

ความตายของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายน่ากลัวแค่ไหน ?

“สำหรับพี่ ความตายนี่น่ากลัวรึเปล่าครับ” ผมเริ่มต้นบทสนทนานี้ด้วยความหนักใจ

“ความตายพี่ก็ไม่ได้กลัวนะ” พี่น้ำทิพย์ตอบ “มันแป๊ปเดียวแล้วเราก็จากไป อันนี้คือพี่คิดแบบนี้จริงๆ นะ แต่คนที่ยังอยู่กลับเป็นคนที่ต้องแบกรับทั้งหมด เราซะอีกเป็นคนเห็นแก่ตัวที่ตายจากไป ความตายมันไม่ได้น่ากลัว แต่ที่พี่กลัวมากกว่าความตายก็คือ ระหว่างทางที่จะไปถึงความตายต่างหาก

พี่ต้องเจออะไรบ้าง ดูสิต้องขาบวม ต้องโน้นนั่นนี่ แล้วปวดแบบมะเร็งอะ มันปวดมากจริงๆ พี่เคยเป็น ไม่กินยาก็คืออยู่ไม่ได้ บางคนกินยาแล้วยังไม่หายก็มี”

ส่วนใหญ่ของอาการปวดมะเร็งนั้น ร้อยละ 70 – 84 ของผู้ป่วย มักจะเป็นอาการปวดที่มาจากก้อนมะเร็งที่กำลังขยายตัว บางครั้งมันขยายตัวจนไปทำลายเนื้อเยื่อ กดเบียดเส้นประสาทที่มาเลี้ยงอวัยวะที่เป็นมะเร็งและข้างเคียง เช่น กระดูก ตับและสมอง พี่น้ำทิพย์อธิบายให้ผมฟังต่อไปว่า

“ปวดมะเร็งนะ รู้เลยว่าปวดมะเร็ง มันปวดมากๆ เหมือนของพี่มันลามไปที่กระดูกด้วย มันปวดแบบมันปวด แก...ถ้าแกปวดแบบนี้ทุกวันตลอดเวลา แกก็ตายได้เหมือนกัน คือพี่คิดว่า ความตายมันไม่น่ากลัวหรอก แต่ระหว่างทางก่อนที่เราจะตายนั่นแหละ...น่ากลัว”

“ประเด็นคือบางคนเขาก็เลือกที่จะฆ่าตัวตาย แต่ไม่รู้นะ พี่คิดว่าฆ่าตัวตายแล้วไงวะ รู้ได้ไงวะ ว่าอนาคตหลังจากที่จะตายมันดีกว่านี้ แกคิดดูนะ แกอยู่ตรงนี้ แกเห็นปัญหา แกมีแนวทางแก้ แกยังทำไม่ได้ แล้วนับประสาอะไร กับปัญหาข้างหน้าที่แกไม่รู้จัก แล้วแกจะทำยังไง เออ... แต่แกฆ่าตัวตายไปแล้วด้วย แกต้องฆ่าตัวตายซ้ำๆ ตลอดไป อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เหรอ วนอยู่อย่างนี้ พี่แค่มองว่า ชีวิตคนเราจิตของคนเรามันเป็นเส้นแบบยาวไป มันน่าเบื่อด้วยซ้ำที่เราต้องคิดว่า เราต้องไปเกิดอีกกี่พบกี่ชาติ ... ปฏิบัติธรรมกันเถอะ ไปบวชกันไป (หัวเราะ)”

ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงของผู้ป่วยที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย ความเจ็บปวดจากโรคมะเร็งนี้นอกจากกัดกินร่างกายจนเกือบรับไม่ไหวแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่ามันจะกัดเซาะหัวใจของผู้ป่วยได้อีกด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าห้าสิบเปอร์เซ็นของกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายนี้ มีโรคซึมเศร้าเจืออยู่ด้วย

วินาทีที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง

สำหรับผู้ป่วยที่ทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งในระยะแรกนั้น อาการที่พบได้บ่อยคือ กลัว ปฏิเสธ รู้สึกสูญเสีย รู้สึกผิด วิตกกังวล และซึมเศร้า แต่...ครั้งที่พี่น้ำทิพย์ทราบจากหมอว่าตัวเองนั้นป่วยเป็นมะเร็งเต้านม พี่น้ำทิพย์ไม่ได้มีอาการน่ากลัวข้างต้นแต่อย่างใดเลย

“ตอนแรกที่พี่รู้ พี่ก็ไม่รู้สึกกลัวนะ เพราะพี่ไม่รู้ว่ามันร้ายแรงหรือเปล่า เพราะเราไม่มีข้อมูล แล้วเราก็ไม่รู้สึก เหมือนกับถามว่าชอบดาราคนนี้ไหม แต่เราไม่มีข้อมูลมาก่อน ณ ตอนนั้นคือพี่รู้สึกเฉยๆ แต่คนรอบข้างไปหมดแล้ว ร้องไห้เลย พี่ก็คิดว่า เออมันขนาดนั้นเลยเหรอวะ

“ตอนแรกหมอบอกว่าเป็นเนื้อร้าย คือเนื้อร้ายมันก็น่าจะเป็นมะเร็งอะนะ พี่ก็คิดว่ามันไม่น่าจะร้ายแรงขนาดนั้น ก็รักษาไป ตอนนั้นพี่ดรอปเรียน มันเหมือนเราต้องเจอภาวะเปลี่ยนแปลงชีวิตหลายๆ อย่าง แล้วมันก็ทำให้เราดาวน์ลง แต่ที่ร้ายแรงจริงๆ คือหลังจากนั้นไม่นานมันลุกลาม ผ่านมาสามสี่เดือนก็เลยรู้ว่ามันร้ายแรง เริ่มต้น ณ จากนั้น” แปลว่าตอนแรกมันไม่ใช่มะเร็งระยะสุดท้าย แต่ตอนนี้ใช่แล้ว ?

“ใช่ แต่พอรู้ว่ามันเป็นแบบรุนแรง พี่ก็ร้องไห้อยู่นะ ตอนนั้นก็กำลังกินข้าวกับพี่สาวแล้วก็พี่เขย พี่ก็ร้องไห้ ฮือ เสียใจมาก แต่ก็ร้องแล้วก็หยุดแล้วก็ไม่ได้อะไรอีก ก็แค่นั้นแหละนะ”

ความเข้มแข็งผลิบานมาจากใจ

หยดน้ำตาของพี่น้ำทิพย์ในวันนั้น เป็นแรงผลักดันให้เธอกลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่เข้มแข็งที่สุดคนหนึ่ง เชื่อผมไหมครับว่า ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายรายนี้กำลังทำสิ่งที่ต้องใช้ความมุ่งมั่นและเพียรพยายามเป็นอย่างมาก พี่น้ำทิพย์ก้าวเดินในชีวิตของตัวเองโดยไม่ยอมให้โรคร้ายมาฉุดรั้งเธอไว้กับสิ่งเดิมๆ เธอได้รับทุนเรียนต่อปริญญาโท ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (แม้ปัจจุบันจะกำลังดรอปเรียนเพราะพักรักษาตัวอยู่ก็ตาม)

ผู้ป่วยมะเร็งปริญญาโทคนนี้ เล่าประสบการณ์ที่ต้องเรียนหนังสือพร้อมกับรักษาตัวควบคู่กันไปให้ผมฟังว่า

“ตอนที่พี่เรียน ป. โท พี่รู้สึกพี่อดทนเยอะอยู่นะ คือพี่พยายามทำตัวให้ปกติที่สุด ทั้งๆ ที่เราเหนื่อยมาก นอนก็ไม่พอ เวลากินข้าวยังไม่มีเลย เรารู้สึกว่าวันนี้เราตื่นขึ้นมาเราเหนื่อยนะ แต่เราจะไม่เรียนก็ไม่ได้หรือถ้าเราไปเรียน แต่ขอไม่ส่งงานได้ไหม มันก็ไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องฝืนมัน ก็ต้องทำนั่นแหละ แม้ว่าจริงๆ ครูกับเพื่อน เขาก็ค่อนข้างที่จะเข้าใจนะ

“จริงๆ ครูที่จุฬากับธรรมศาสตร์ดีมากเลยนะ คือช่วยจนพี่ไม่คิดว่า คนเราจะช่วยกันได้ขนาดนี้ พี่ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องมาช่วยพี่ ทั้งๆ ที่เขาจะให้เราตกก็ได้นะ แต่เขาเลือกที่จะช่วยเรา ให้งานพี่ทำ แต่ให้กระทบสุขภาพเราน้อยที่สุด”

พิษร้ายของมะเร็ง

ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป บางครั้งเราต้องเผชิญความยากลำบากมากมาย ทั้งกับผู้คนรอบข้าง การทำงานหรือปัญหาครอบครัว แต่กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายนั้นความยากลำบากที่ต้องเผชิญนั้นรวมถึงการต่อสู้กับผลข้างเคียงของการรักษาแบบเคมีบำบัด (การให้คีโม) อีกด้วย

ผลข้างเคียงของการใช้เคมีบำบัด นั้นมีตั้งแต่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อารมณ์แปรปรวน ผมร่วง ท้องผูก พี่น้ำทิพย์อธิบายเพิ่มเติมให้ผมฟังถึงผลข้างเคียงของมันว่า

“เบสิคเลยนะ มันมีตั้งแต่ ผมร่วง คลื่นไส้-อาเจียน ร่างกายอ่อนแอ อันนี้คืออาการเบสิคนะ แต่พี่ไม่ค่อยเป็นหรอก เป็นแต่แบบแอดวานซ์ จริงๆ มันก็แล้วแต่ตัวยานะ เช่น บางตัวทำให้เลือดเย็น มันจะหนาว หนาวแบบหนาวสั่น ห่มผ้าเท่าไหร่ก็เอาไม่อยู่ หนาวเข้าไปถึงกระดูก ไมรู้จะหายหนาวเมื่อไหร่ ยาบางตัวทำให้เป็นสิวเม็ดข้าวสารที่หน้า เป็นเท่าไหร่ก็ไม่หายสักที

“บางตัวทำให้ท้องผูก ท้องเสีย แล้วก็เข้าห้องน้ำอยู่อย่างนั้น ยาตัวล่าสุดก็ทำให้ขาบวม เพราะร่างกายขับน้ำออกได้น้อย บางตัวทำให้มือชาเท้าชา อันนี้เกลียดมากเลย มันเหมือนฉันเหยียบอยู่บนกรวดตลอดเวลา มันชาอยู่อย่างนั้น เวลานอนแล้วมันนอนลำบากมากเลย ต้องฟื้นฟูเยอะมากๆ เลยจากการรักษา”

สู้จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ?

“พี่อยากเลิกมากเลยอะ ตั้งแต่ (คีโม) ตัวที่ห้าแล้วมั้ง ตอนนี้ตัวที่เจ็ดแล้วอะ คือพี่อยากทำกระรักษาแบบประคับประคอง หรือไม่งั้นก็ใช้แพทย์ทางเลือก ดูเรื่องสมดุลอาหาร พวกกินของเย็นของร้อน

“เออ แต่เอาจริงๆ เลยนะ พูดกับหมอกี่ครั้งเขาก็ไม่ยอม คือมันควรจะขึ้นอยู่กับตัวเราอะ สิทธิ์มันเป็นของเรา แต่หมอเขาก็จะบอกว่า “เอาอันนี้ไปก่อนนะครับ เอาอันนี้ไปก่อน เอาไปก่อน” คือพี่ก็บอกเขาทุกครั้งเลยว่า พี่ไม่อยากได้รับคีโมอีกแล้ว มันไม่ใช่การยอมแพ้นะ แต่พี่รู้ว่ามันไม่ได้ผล แล้วพี่ต้องเป็นคนที่เจ็บตัว ต้องมาแบกรับอาการข้างเคียงอยู่คนเดียว

“พี่คิดนะ คนเรามันไม่จำเป็นต้องสู้จนนาทีสุดท้ายของชีวิต จนไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย แต่เราควรจะเก็บโมเมนต์ที่มันสงบ ไม่ใช่เอาฉันไปรักษาจนฉันแทบจะลุกไม่ไหว ให้เรามีร่างกายแบบนี้แล้วเราตายไปมันดีกว่า คือเรารู้อยู่แกใจว่ายังไงมันก็ไม่ได้ผลหรอก ขาก็บวม ร่างกายก็แย่ลง แต่หมอเขาไม่เข้าใจเรา บอกไปตั้งไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว

“บางคนเขาคิดว่าเราท้อ บางคนเขาคิดว่าเราอยากยอมแพ้ แต่คือสำหรับเรามันไม่ใช่ไง เราแค่อยากเก็บร่างกายที่แข็งแรงของเราไว้ ไม่อยากให้คีโมมาทำให้เราอ่อนแอลง พี่อยากจะดูแลประคับประคองไป ปวดก็กินยา ท้องผูกก็กินยา หรือไม่สบายตัว เขาก็มีท่ายืดท่าอะไรสอนเรา ไม่ใช่ว่า ต้องมาทนกับคีโม ซึ่งมันไม่ได้ผล แม้ว่าเลือกอย่างนี้เราอาจจะต้องตายก็ตาม”

รอบต่อไปพี่ก็คงบอกหมออีกว่าไม่ทำคีโมแล้ว ?

“เออ พี่ไม่อยากไปแล้ว”

เอกสารอ้างอิง
http://hocc.medicine.psu.ac.th/files/khowledge/04april_2013-p26-27.pdf
https://www2.posttoday.com/social/general/541947
http://hocc.medicine.psu.ac.th/files/khowledge/8august2011.pdf
http://www.chulacancer.net/services-list-page.php?id=355

[seed_social]
4 เมษายน, 2561

หลักการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้จากไปอย่างสงบทำอย่างไรได้บ้าง

ดีเจโจ้ (อัครพล ธนะวิทวิลาส) แม้ว่าร่างจะเหมือนกับตายแล้ว แต่คนที่ยังอยู่คือแฟนร้องไห้ บอกว่าอย่าเพิ่งไปนะ เขาจึงต้องทน จนกระทั่งแฟนบอกว่าไม่ต้องห่วงแล้ว เขาจึงจากไปด้วยดี เพราะสามารถปล่อยวางได้ ไม่ต้องห่วง
13 เมษายน, 2561

โมงยามที่เปี่ยมชีวิตชีวา

วิลโก จอห์นสัน เป็นนักร้องและมือกีตาร์ชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการก่อเกิดขบวนการพังค์ในอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา
11 มกราคม, 2561

ค่อยๆ ว่ากันไป

เคยรู้สึกบ้างไหมว่า มีบางช่วงที่ชีวิตเต็มไปด้วยปัญหารุมเร้าอย่างไม่คาดคิดและไม่ทันตั้งตัว จบเรื่องนี้มีอีกเรื่องหนึ่งตามมาอย่างติดๆ โดยไม่ทันหายใจ แถมไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่ามันมาได้อย่างไร รู้แต่ว่าชีวิตไม่สามารถจัดการหรือควบคุมอะไรได้เลย