parallax background
 

คุณค่าของชุมชนกรุณาในสังคมไทย

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ธรรมชาติของวันเวลาคือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งยากจะกำหนดให้เป็นไปตามใจเราปรารถนา คงจะดีไม่น้อยหากทุกคนต่างมีเครื่องมือเฉพาะตัวที่สามารถช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัยแม้ต้องเผชิญหน้ากับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

แล้วเครื่องมือใดเล่าที่ช่วยให้เรามีจิตใจเข้มแข็ง พร้อมโอบรับทุกสรรพสิ่งด้วยความอ่อนโยน ให้เรายืนหยัดประคับประคองดูแลผู้อื่นให้มีความสุข จนเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งของชีวิตได้ ถ้ามิใช่... ‘ความรัก’

ปัจจุบัน สังคมไทยได้ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามอง สังคมเราไม่ได้มีเพียงคนหิวโหย คนยากจน คนด้อยโอกาส คนพิการ คนชราเท่านั้น หากเป็นสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมีผู้ป่วยเรื้อรังและระยะท้ายทวีขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งเขาและเราล้วนแล้วแต่ต้องการการดูแลใส่ใจ

แต่หากเราจะหวังเพียงให้ระบบสาธารณสุขมาดูแลเพียงฝ่ายเดียว ย่อมเป็นไปไม่ได้ การแพทย์มีข้อจำกัดในการผลิตบุคคลากรให้เพียงพอต่อความจำเป็น อีกทั้งองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองยังไม่เป็นที่แพร่หลายแก่ประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกันผู้มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย เช่น ลูกหลานที่อยู่ในวัยทำงานเริ่มมีสัดส่วนลดน้อยลง จึงเป็นเรื่องท้าทายในการส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงการตายดีอย่างทั่วถึงทั้งสังคม แนวคิดของการส่งเสริมให้ชุมชนที่ผู้คนต่างมีความกรุณาที่จะรับผิดชอบ และดูแลซึ่งกันและกันในช่วงแห่งการเผชิญความสูญเสียจึงก่อกำเนิดภายใต้ชื่อ “ชุมชนกรุณา” (Compassionate Communities)

“ช่วงที่เราทำงานกับความตายเป็นช่วงชีวิตที่เปราะบางแต่มันช่วยเปิดหัวใจของเรา” คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death ขึ้นกล่าวในเวทีอภิปรายหัวข้อ “คุณค่าของชุมชนกรุณาในสังคมไทย” ในงานประชุมวิชาการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และการตายดี จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2562 ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.)

เชื่อเหลือเกินว่า พวกเราทุกคนล้วนต้องการความรัก พร้อมๆ กับต้องการมอบความรัก แต่บางครั้งเรากลับไม่มีความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะรักนั้น หนึ่งในองค์ประกอบของ ‘รักแท้’ คือ กรุณา หมายถึงความเต็มใจและความสามารถในการบรรเทาและแปรเปลี่ยนความทุกข์ ความหม่นหมองของผู้อื่นให้เบาบางลง

“การประกาศขอความช่วยเหลือ เป็นสิ่งจำเป็นเพราะจริงๆ แล้ว ทุกคนมีหัวใจกรุณา และอยากช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อเราประกาศออกไป มักจะมีมือที่มองไม่เห็นหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือเสมอ” พญ. วนาพร วัฒนกูล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จาก โรงพยาบาลขอนแก่นเล่าถึงแรงบันดาลใจครั้งแรกในการทำงานอาสา เธอพบคนพิการคนหนึ่งที่ไม่ได้ออกจากบ้านมานานกว่า 12 ปี ทั้งๆ ที่หากครอบครัว ชุมชน และเจ้าหน้าที่ช่วยกันแล้ว คนไข้สามารถออกจากบ้าน เคลื่อนไหว เห็นเดือนเห็นตะวันได้ ความเห็นอกเห็นใจ และคิดหาหนทางช่วยเหลือผู้ป่วยคนนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “พาประคองออกจากถ้ำ” (ประคองคือชื่อของคนไข้ และเป็นช่วงเวลาเดียวกับปรากฏการณ์พาทีมหมูป่าออกจากถ้ำ)

“เมฆสวยเหลือเกินมันคือ...สวยจริงๆ” คือคำพูดแรกของคนไข้ หลังจากสามารถออกจากห้องมาชมเมฆที่เธอไม่ได้เห็นกว่าสิบสองปี หากเป็นคนทั่วไป ความสวยของเมฆคงเป็นอะไรที่ธรรมดา หรืออาจถูกมองข้ามไปด้วยซ้ำ แต่สำหรับ พญ.วนาพรและคนที่อยู่ในทีมช่วยเหลือแล้ว ถ้อยคำนี้ย่อมมีฐานะเป็นรางวัลแห่งกรุณา

“เราต้อง ‘เปิดพื้นที่’ และไม่ต้องรอนโยบายใดๆ เพราะเราทำได้! เราทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด และเรามีศักยภาพที่สามารถผลักดันให้ชุมชนมีความกรุณาเพื่อชุมชน แม้แต่คนนั้นเป็นผู้ป่วยเสียเองก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้” คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death กล่าวขึ้นด้วยความมุ่งมั่น

‘เขา’ และ ‘เรา’ ไม่ต่างกัน เพราะล้วนแต่ต้องการ ‘กำลังใจ’’

ประสบการณ์ความสูญเสีย เป็นสิ่งที่สำคัญที่เราทุกคนในชุมชนต้องมีส่วนรับผิดชอบทั้งสองมิติ มิติแรกคือความรับผิดชอบการตายของตัวเราเอง มิติที่สองคือร่วมรับผิดชอบดูแลความสูญเสียของคนในชุมชนที่เราเป็นสมาชิกอยู่ด้วย

คุณไอรีล ไตรสารศรี จาก Art for Cancer ผู้รับเชิญร่วมงานเสวนาครั้งนี้กล่าวได้น่าสนใจว่า “เป็นคนที่ประสบทุกข์ด้วยตัวเอง เริ่มเป็นมะเร็งระยะที่2 ราวปี พ.ศ. 2554 ระหว่างการรักษาตัวด้วยเคมีบำบัดเริ่มมองเห็นความทุกข์ของ ‘เพื่อนร่วมโรค’ เลยอยากช่วยเหลือ โครงการ ‘Art for Cancer by Ireal’ จึงกำเนิดขึ้นด้วยต้องการระดมทุนผ่านงานศิลปะเพื่อผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ต่อมาพบว่ามะเร็งแพร่กระจายสู่ระยะสุดท้าย ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าความตายมันอยู่ใกล้เรา เราจึงหมั่นดูแลสุขภาพกายใจอย่างสม่ำเสมอ และรู้สึกว่าไม่อยากให้ ‘Art for Cancer by Ireal’ ตายไปพร้อมกับตัวเอง จึงอยากต่อยอดทำธุรกิจเพื่อสังคม สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถได้รับ Inspiration เกี่ยวกับ ‘มะเร็งด้านบวก’ เป็นการส่งต่อกำลังใจให้กันและกัน”

ที่ผ่านมา โครงการ Art for Cancer by Ireal ระดมทุนจากศิลปะภาพวาด ที่คุณไอรีลได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนๆ ศิลปิน ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมระดมทุนต่างๆ อาทิ รับวาดภาพเหมือนเป็นการ์ตูน จัดทำสมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง (Survivor Planner) เพื่อให้ผู้ป่วยได้จดบันทึกอาการ ผลข้างเคียง และเรื่องราวอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเอง และช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้ป่วย แพทย์และทีมผู้ดูแลมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสมุดบันทึกนี้ถูกออกแบบมาสวยงาม เข้าใจง่าย พร้อมสอดแทรกข้อคิดให้กำลังใจกับผู้ป่วยขณะรับการรักษา

ต่อมาจึงจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ไว้กับมูลนิธิ 3 แห่ง คือ ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิรามาธิบดี และมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ นอกจากนี้คุณไอรีลมีแนวคิดที่จะสนับสนุนความรู้ที่ถูกต้อง มุ่งหวังเป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งอย่างคนที่เข้าใจ จึงเปิดพื้นที่พิเศษภายใต้ชื่อ ‘Co-caring space’ โดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือ และให้ข้อมูลแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง อีกทั้งสอดแทรกข้อมูลความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีแนวทางที่จะอยู่กับมะเร็งได้อย่างมีกำลังใจ ผลของการอุทิศตนเพื่อบรรเทาความทุกข์ของ ‘เพื่อนร่วมโรค’ ทำให้มีโอกาสพบกับ คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ เพื่อนร่วมงานคนสำคัญผู้ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมและขยายโครงการต่างๆ จนสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานและเพิ่มศักยภาพในการระดมทุน เพราะคุณไอรีลระลึกเสมอว่า “อยู่ถึงปีหน้าไหม ทำยังไงให้สิ่งที่ทำมายั่งยืน ไม่ตายไปกับเรา”

ความรักที่ปราศจากความเข้าใจย่อมมิใช่ความรักที่แท้จริง เมื่อเรามองและฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง เราจะเห็นและเข้าใจความต้องการ จนสัมผัสได้ถึงความทุกข์ของผู้นั้น มีผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่ ‘การขาด’ คือความทุกข์ที่ตนกำลังเผชิญและสุ่มเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับการเยียวยา

คุณอภิรักษ์ จิรัฐพิกาลพงศ์ จาก ชมรมจิตอาสาชุมชนเมืองน้ำดำ กาฬสินธุ์คือหนึ่งในผู้ร่วมริเริ่มงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ยากไร้ด้วยการระดมเงินบริจาคโครงการ ‘อุ่นกายไม่หนาวใจ’ และต่อยอดงานอาสาจัดงานศพแก่ศพไร้ญาติและยากจนในโครงการ ‘โครงการจุติสุขาวดี’ ด้วยการเชื่อมประสานชุมชนด้วยความเมตตาจนกำเนิดโครงการใหม่ ชื่อว่า ‘สุขสุดท้ายที่ปลายทางชีวิต’ ต่อยอดจากการช่วยจัดงานศพ มาสู่การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเน้นที่ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ได้แก่ ผู้ป่วยติดเตียงและญาติ ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการทำงานอาสาและเปิดเส้นทางให้ผู้สนใจเข้าร่วมในก้าวต่อไปในการสร้างชุมชนกรุณาเพื่อชุมชนว่า

“สิ่งสำคัญของการทำงานจิตอาสาในชุมชนคือต้องมีช่องทางในการติดต่อให้ความช่วยเหลือ ทำงานโดยเน้นความโปร่งใส ชุมชนจะเชื่อใจและไว้วางใจ มีศรัทธาและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือร่วมไปกับเรา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทุกครั้งที่มีกิจกรรม จะมีคนพร้อมช่วยเราเสมอ”

เมื่อเรามองท้องฟ้ายามค่ำคืน ยิ่งในคืนไร้เดือนที่ฟากฟ้าปกคลุมไปด้วยความมืดด้วยแล้ว มีเพียงแสงระยิบระยับพร่างพราวด้วยดวงดาวนับหมื่น ความสวยงามของท้องฟ้าที่ประดับประดาด้วยประกายดาววับแวมหลายดวงส่งผลให้เรามีความสุขใจ อุ่นใจและไม่หลงทิศ

สังคมไทยมีความเมตตากรุณาเป็นดั่งเมล็ดพันธุ์ที่หว่านความรักลงไปในจิตใจของผู้คน นำความสงบเย็นมาหล่อเลี้ยงผู้ทุกข์ยากเสมอมา หากทุกคนร่วมกันบ่มเพาะพลังความกรุณาผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน และมีการเชื่อมโยงประสานกันเป็นกลุ่ม ‘ชุมชนกรุณา’ ทั่วประเทศเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์จนความทุกข์ของผู้นั้นได้รับการเยียวยา เครือข่ายเหล่านี้ย่อมผลิดอกผล เติบใหญ่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสุขภาพที่ทรงคุณค่าและงดงามยิ่งของสังคมไทย ดังคำกล่าวของปราชญ์ท่านหนึ่ง ผู้ใส่ใจในความรู้และภูมิปัญญาเกี่ยวกับเรื่องดวงดาวบนท้องฟ้า ได้ให้ข้อคิดที่ชวนไตร่ตรองว่า

‘ดาวดวงหนึ่ง บอกความงดงามของดาวหลายดวง
ดาวหลายดวงบอกความเป็นหนึ่งของดาวหนึ่งดวง’

บางทีดวงดาวอาจไม่จำเป็นต้องปรากฏอยู่บนท้องฟ้าราวปาฏิหาริย์ เมื่อหัวใจเราเปี่ยมไปด้วยความกรุณาแล้ว ทุกๆ ความคิด คำพูดและการกระทำของเราทุกคนย่อมนำมาซึ่งปาฏิหาริย์ และความกรุณานั้นเองที่เปลี่ยนแปลงชีวิตให้งดงามขึ้นได้ โดยเฉพาะ ชีวิตของเราเอง

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ความฝันกับความจริง

ศิลปะมีความน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ โดยตัวศิลปะเองเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ได้อยู่กับตนเอง ได้ถ่ายทอดตัวตนที่อยู่ภายในออกมาเป็นผลงานภายนอกที่เป็นรูปธรรม ช่วยนำไปสู่การเข้าใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง
16 กุมภาพันธ์, 2561

ความรักที่ไม่เคยหายไปไหน

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นในค่ำคืนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู เป็นเบอร์ของน้องหนุ่ม (นามสมมติ) ย้อนกลับไปประมาณ ๒-๓ ปี น้องหนุ่มเคยนอนรอความตายจากโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ผู้เป็นแม่เฝ้าดูแลหน้าห้องไอซียูด้วยความหวัง
4 เมษายน, 2561

เบาคลายความเจ็บปวด ด้วยนวดสัมผัสแห่งรัก

คนส่วนใหญ่อาจรู้อยู่แล้วว่า การนวดเป็นวิธีการผ่อนคลายร่างกายจากความเมื่อยล้าอย่างง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจากประโยชน์ทางด้านร่างกายแล้ว การนวดยังมีคุณค่าทางใจ