parallax background
 

ความเคลื่อนไหว เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในมาเลเซีย

ผู้เขียน: นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

กล่าวกันว่า รากฐานเริ่มแรกของขบวนการฮอสพิซในมาเลเซีย เป็นผลงานการบุกเบิกของ ดาโต๊ะ ศรี จอห์น คาร์โดซา (John Cardosa) ในช่วงทศวรรษที่ ๗๐ และ ๘๐ เมื่อจอห์นพบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งใน ปี ค.ศ.๑๙๗๒ ทำให้เขาประสบกับการบำบัดโรคร้ายที่คุกคามชีวิต ไร้ซึ่งการดูแลมิติทางอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วยด้วยตนเอง เขาจึงหาทางที่จะทำให้ตัวเองและผู้ป่วยคนอื่นๆ ได้รับการดูแลในมิติดังกล่าว และเริ่มต้นผลักดันให้เกิดสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในมาเลเซีย ซึ่งมาประสบผลสำเร็จเอาในทศวรรษที่ ๙๐

ดาโต๊ะศรี ดร.ท. เทวราช (Dato’ Seri Dr. T Devaraj) หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร/ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของ รูมาห์ ฮอสพิซ ปูเลา ปีนัง (Rumah Hospis Pulau Pinang) ได้ขยายความว่า

“การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเข้ามาในประเทศนี้อย่างง่ายๆ เพราะการที่ จอห์น คาร์โดซา รอดตายจากมะเร็งได้สองครั้งสองครา และมาเป็นเลขานุการของสมาคมมะเร็งในปีนัง เขาได้เดินทางไปประชุมเรื่องสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายครั้งที่สอง ณ สิงค์โปรเมื่อ ค.ศ.๑๙๘๙ และมีคนจากกัวลาลัมเปอร์ไปร่วมประชุมพร้อมเขาด้วยอีกสามสี่คน เมื่อกลับมาเขาก็ตัดสินใจว่า ต้องมีการดูแลแบบประคับประคองในประเทศนี้”

เมื่อเริ่มงานในทศวรรษ ๙๐ การก่อตั้งบ้านพักสำหรับดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในปีนัง อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมมะเร็งแห่งชาติมาเลเซีย พร้อมกับในกัวลาลัมเปอร์ได้เกิดความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน องค์กรพัฒนาเอกชน “ฮอสพิซ มาเลเซีย” ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.๑๙๙๑ โดย ดาโต๊ะ ดร.ปีเตอร์ มูนีย์ (Dat Dr. Peter Mooney) พยายามก่อตั้งหน่วยดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาลอัสซุนตา (Assunta Hospital) ซึ่งเขาเป็นประธานอยู่ แต่ต้องหยุดชะงักไป เนื่องจากบุคลากรด้านการแพทย์เห็นว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย “เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามมากเกินไป” และอยู่นอกเหนือภาระงานของโรงพยาบาล

มีการรับอาสาสมัครเข้ามาฝึกอบรมทั้งสองพื้นที่ โครงการที่ปีนังมุ่งเปิดรับผู้ป่วยในเดือนมิถุนายน ค.ศ.๑๙๙๑ แต่หาพยาบาลมาทำหน้าที่ประสานไม่ได้ จนต้องมาเปิดทำการใน ค.ศ.๑๙๙๒ ส่วนพื้นที่ทางแถบคาบสมุทร ฮอสพิซ มาเลเซีย เปิดโครงการเยี่ยมบ้านไปหนึ่งเดือนก่อนหน้า ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๙๒ โดยตอนแรกให้บริการครอบคลุมบริเวณ เปตาลิง จายา (Petaling Jaya) ก่อนจะขยายไปครอบคลุมเขตกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.๑๙๙๒

ในปี ค.ศ.๑๙๙๒ ศัลยแพทย์และเจ้าหน้าที่ในแผนกศัลยกรรมของโรงพยาบาลควีนอลิซาเบธ ในโกตา คินนาบาลู (Queen Elizabeth Hospital in Kota Kinabalu) พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาโรคมะเร็งในระยะลุกลาม เมื่อได้รับรักษาและผู้ป่วยกลับบ้านไปแล้ว ร้อยละ ๗๐ ต้องมาโรงพยาบาลอีกเพื่อที่จะลดผลข้างเคียงจากมะเร็งที่กลับมา จึงมีการก่อตั้งบ้านพักเพื่อดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๙๓ ภายใต้ร่มของสมาคมมะเร็งแห่งซาบาห์ แต่ต่อมาจึงพบว่า หน่วยดูแลผู้ป่วยในต้องการความสนับสนุนจากโครงการเยี่ยมบ้าน และต้องหาวิธีการอำนวยความสะดวกให้สามารถรับผู้ป่วยเข้ามาดูแลได้อย่างรวดเร็ว แทนที่จะต้องผ่านขั้นตอนที่ยืดยาด จึงทำให้เกิดรูปแบบการดูแลระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลและโครงการเยี่ยมบ้านที่อยู่บนฐานของเครือข่ายโรงพยาบาลอำเภอเข้มแข็งของมาเลเซียเอง ในการจัดหา ”การดูแลที่ไม่สะดุด” ซึ่งรูปแบบดังกล่าวทำให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจ และนำไปสู่การก่อตั้งแผนกดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลรัฐ

คุณหมอรันจิต โอมเมน (Dr.Ranjit Oommen) ขยายความในเรื่องดังกล่าวว่า

“ผมคิดว่ารูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนี้น่าจะเป็นตัวแบบที่จะใช้ในมาเลเซีย เพราะไม่มีหน่วยงานขององค์กรภาคเอกชนใดๆ ที่สามารถเข้าถึงในระดับหมู่บ้านได้ รัฐบาลเป็นหน่วยงานซึ่งมีภารกิจในการเข้าหาทุกคนในประเทศ ดังนั้นหากทำงานผ่านช่องทางของรัฐ เราสามารถจะเข้าไปหาทุกคนได้ แต่หากเราทำงานในลักษณะของโครงการเยี่ยมบ้านเหมือนเดิม เราก็คงทำงานได้เฉพาะใน โกตา คินาบาลู นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล”

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

จิตตปัญญาศึกษา…สู่ชีวิตที่ดีงาม (Contemplative Education: The Right Livelihood)

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานการประชุมวิชาการประจำปี จิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๗ ขึ้น เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อการตื่นรู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานและเกิดจิตสำนึกใหม่ มุ่งให้เกิดประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์อย่างเต็มกำลังความสามารถ
6 กุมภาพันธ์, 2561

การถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจะเป็นบาปไหม?

การใช้สิทธิที่จะตายไม่จำเป็นต้องหมายความถึงการเลือกตายด้วยการุณยฆาตเสมอไป คนที่รู้ตัวว่ารักษาไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นโรคที่หายยาก และอายุก็มากแล้ว ถึงรอดตายไปวันนี้อีกไม่นานก็ต้องเจออีก
5 ธันวาคม, 2560

ความรักที่ไม่เคยหายไปไหน

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นในค่ำคืนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู เป็นเบอร์ของน้องหนุ่ม (นามสมมติ) ย้อนกลับไปประมาณ ๒-๓ ปี น้องหนุ่มเคยนอนรอความตายจากโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย