parallax background
 

ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด

ผู้เขียน: ศรินธร รัตน์เจริญขจร หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

นวนิยายเรื่อง The Unlikely Pilgrimage of Harold Fry ผลงานของ เรเชล จอยซ์ นักเขียนบทละคร ทั้งละครวิทยุและโทรทัศน์ แปลโดยธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ ในชื่อเรื่อง ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด

เนื้อเรื่องตั้งต้นให้เห็นถึงชีวิตเฉื่อยเนือยของคู่สามีภรรยาวัยหลังเกษียณในบ้านพักบนตอนใต้ของเกาะอังกฤษ ฮาโรลด์และมอรีน พร้อมเริ่มต้นแก่นของเรื่องด้วยจดหมายบอกลาจากควีนนี อดีตเพื่อนร่วมงานของฮาโรลด์ ซึ่งไม่เคยพบกันมากว่า ๒๐ ปี เธอป่วยด้วยโรคมะเร็งและกำลังจะตาย จดหมายถูกส่งมาจากสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเซนต์เบอร์นาดีน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุดของเกาะอังกฤษ ฮาโรลด์จำเธอได้และพยายามเขียนจดหมายตอบกลับ แต่ระหว่างทางที่เขากำลังเดินไปส่งจดหมายถึงควีนนี เขากลับตัดสินใจที่จะเดินไปหาเธอเพื่อส่งจดหมายถึงมือด้วยตนเอง การเดินระยะทาง ๖๐๐ ไมล์จากใต้สุดไปเหนือสุดของเกาะอังกฤษของฮาโรลด์จึงเริ่มขึ้น โดยที่เขาไม่ได้เตรียมการใดๆ ไม่มีแผนที่ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ และไม่ได้สวมรองเท้าที่เหมาะสมต่อการเดินระยะไกล

ด้วยวัยและการไม่ได้เตรียมตัว ฮาโรลด์จึงบาดเจ็บที่เท้าและกล้ามเนื้อตั้งแต่ออกเดินวันแรกๆ เขาผ่านสถานที่สำคัญและเมืองต่างๆ ไปเรื่อยๆ นอนพักตามโรงแรมบ้าง โรงนาบ้าง การเดินของฮาโรลด์เปรียบคล้ายการจาริก (pilgrim) เขาได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนแปลกหน้า เขาโทรศัพท์หาภรรยาเป็นระยะด้วยโทรศัพท์สาธารณะ รวมถึงโทรไปที่สถานดูแลผู้ป่วยฯ ที่ควีนนีพักอยู่ เพื่อบอกให้รู้ว่าเขากำลังเดินไปหา ฮาโรลด์คิดถึงเดวิด ลูกชายของเขาหลายครั้ง ในขณะที่มอรีน ซึ่งแน่นอนว่ารู้สึกเป็นห่วงสามีอย่างมาก และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการออกเดินครั้งนี้ เธอพยายามใช้เวลาให้หมดไปกับการทำงานบ้าน เธอพูดคุยกับเร็กซ์ ชายข้างบ้านที่สูญเสียภรรยาบ้าง และที่สำคัญเธอยังบ่นระบายให้ลูกชายฟังถึงการกระทำของพ่อ

เมื่อระยะทางแสนไกล ย่อมต้องใช้ระยะเวลาเนิ่นนาน ผู้คนเริ่มรู้เรื่องการเดินของเขามากขึ้น ทำให้ช่วงระยะหนึ่งของการเดินมีกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งผู้ที่เคยสูญเสีย ผู้รักการเดิน ฯลฯ เข้ามาร่วมทางกับเขาด้วย จนเป็นกลุ่มการเดินกลุ่มใหญ่ กระทั่งเรื่องการเดินของฮาโรลด์กลายเป็นข่าวโด่งดัง ทำให้เป้าหมายในการเดินของเขาบิดเบี้ยว และเสียศูนย์ไปช่วงหนึ่ง ซึ่งภายหลังกลุ่มคนเหล่านี้ค่อยๆ สลายตัวไปด้วยเหตุปัจจัยต่างกัน แต่ผู้ร่วมทางก็สะท้อนการเรียนรู้ถึงอุปสรรคของชีวิตที่เราต้องพบเจอ เมื่อคนมากขึ้น ย่อมมีความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา หรืออุปสรรคข้างในใจฮาโรลด์เองก็เกือบทำให้ล้มเลิกการเดิน แต่ในที่สุด ฮาโรลด์ใช้เวลา ๘๗ วันในการเดินทางมาถึงสถานดูแลผู้ป่วยที่ควีนนีพักอยู่

นวนิยายเล่าเรื่องโดยทิ้งปริศนาระหว่างทางไว้ ๒ ประเด็นคือ ควีนนีไม่เคยมารับโทรศัพท์เลยเมื่อฮาโรลด์โทรมาเป็นระยะระหว่างการเดิน มีแต่แม่ชีที่ดูแลควีนนีบอกว่าเธอหลับอยู่ และบอกฮาโรลด์ว่ามีปาฏิหารย์เกิดขึ้นกับควีนนีเมื่อเธอรู้ว่าเขากำลังเดินมาหา ส่วนปริศนาอีกข้อหนึ่งคือความสัมพันธ์แปลกๆ ของฮาโรลด์และมอรีน ที่เกี่ยวพันไปถึงเดวิด ลูกชายของพวกเขา โดยผู้แต่งจะซ่อนความรู้สึกเหล่านี้ไว้ระหว่างเนื้อเรื่อง ผู้แต่งยังทำให้รู้สึกว่าควีนนีเป็นเพื่อนร่วมงานจริงๆ หรือเป็นคู่รักอีกคนของฮาโรลด์กันแน่ รวมถึงเดวิดที่ฮาโรลด์มักคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ของลูกชายเกือบตลอดทางที่เดิน ทั้งที่ความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกชายไม่ค่อยราบรื่นนัก รวมทั้งมอรีนที่พยายามปรึกษาลูกชายถึงการเดินครั้งนี้ของฮาโรลด์ จนเธอเครียดถึงขั้นต้องปรึกษาหมอ

ตอนท้ายของเรื่องซึ่งฮาโรลด์เดินทางถึงสถานดูแลผู้ป่วยเพื่อเยี่ยมควีนนี แม่ชีพาเขาไปพบกับร่างหนึ่งที่เขาไม่อาจจำได้ มะเร็งลุกลามไปมากจนร่างกายของควีนนีผิดปกติ ที่หัวของเธอมีก้อนเนื้ออีกก้อนจนทำให้ดูเหมือนมีสองหัว เล็บที่ยาว แขนเล็กฟีบ และร่างเล็กผอมบางเหมือนเด็ก นี่คือระยะสุดท้ายของชีวิตควีนนี เธอรับรู้ได้ยินทุกอย่างที่ฮาโรลด์พูดด้วย แต่โต้ตอบไม่ได้ เธอไม่มีญาติพี่น้องที่ไหนอีก เธอมีชีวิตอยู่ได้เพื่อรอการมาถึงของฮาโรลด์ และเธอสิ้นลมในวันต่อมา มอรีนขับรถมาหาฮาโรลด์อีกเป็นครั้งที่สองด้วยความเป็นห่วง (หลังจากเคยขับรถมาหาเขาระหว่างทางเพื่อรับกลับบ้าน แต่ไม่สำเร็จ) เนื้อเรื่องเฉลยถึงความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาที่จืดจางลง เพราะพวกเขาต้องสูญเสียลูกชายอย่างกะทันหัน เดวิดฆ่าตัวตายในโรงรถที่บ้าน หลังจากนั้นเขาทั้งคู่ก็แทบจะเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน หากแต่ระยะเวลา ๘๗ วันที่ผ่านไปนั้นได้ทำให้ทั้งคู่เกิดการทบทวนชีวิต และการได้เห็นการจากไปของควีนนี ทำให้ฮาโรลด์และมอรีนเริ่มกลับมาสานสัมพันธ์ที่ดีอีกครั้ง

นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความตายของควีนนีและเดวิด ได้ส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นบ้างกับชีวิตของคนข้างหลัง ความสัมพันธ์ของสามีภรรยาแตกหักเมื่อต้องสูญเสียลูกชายเพราะต่างกล่าวโทษกัน ส่วนการตายของควีนนี ทำให้เกิดการเรียนรู้ถึงชีวิตที่ไม่แน่นอน ทั้งชีวิตของฮาโรลด์ระหว่างเดิน ชีวิตของมอรีนที่ต้องสูญเสียลูกชายอย่างไม่คาดฝัน ชีวิตของผู้คนที่ผ่านไปมาระหว่างทาง รวมถึงชีวิตของควีนนีเอง ความตายของเธอจึงมีความหมายเพราะได้ทิ้งบทเรียนมีค่าไว้ให้ ฮาโรลด์ได้ทบทวนชีวิตและอย่างน้อยชีวิตคู่ที่เหลืออยู่ของฮาโรลด์และมอรีนก็มีคุณค่ามากกว่าเดิม

ภาพโดย ชนาทิป แก้วสุข

[seed_social]
17 เมษายน, 2561

ยายผีสาว : Ghostgirl

“การยึดติดกับอะไรบางสิ่งหรือใครบางคน คือการเชื่อดึงดันว่าสิ่งนั้นหรือคนนั้นจะเติมเต็มเราได้ การยึดติดทำให้เรามีชีวิต มันทำให้เราต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งที่เรามีอยู่ หรือไขว่คว้าสิ่งที่เราต้องการ แต่บ่อยครั้งมันทำให้เราติดอยู่ตรงกลาง วิ่งวนเป็นหนูติดจั่น ชาร์ลอตต์ก็ติดอยู่เช่นกัน เรื่องนี้แน่ใจได้เลย”
5 เมษายน, 2561

ที่รัก… โปรดปล่อยฉันไป

เจ้าหมาน้อยฮาชิ เลือกที่จะเฝ้ารอคอยเจ้านายที่มันรักอยู่ที่สถานีรถไฟร่วม ๑๐ ปี มันอาจรับรู้ เข้าใจ หรือไม่เข้าใจก็ได้ ว่าเจ้านายได้จากไปแล้ว
25 เมษายน, 2561

ห้าสิบ/ห้าสิบ ไม่รอดก็ตาย แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น

ภาพบรรยากาศแสงอาทิตย์ลาลับ ท้องฟ้าสีแดงฉาน นกร่ำร้องกระพือปีกบินเป็นทิวแถวกลับไปนอนรัง ยังคงมัดตรึงใจผู้เขียนอยู่ทุกครา ราวกับเป็นเสียงเตือนบอกเราว่า หมดเวลาแล้วสำหรับวันนี้