parallax background
 

บทพิเคราะห์
ความกรุณาบนความตาย

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

คำว่า ความกรุณา นี้อ่านผ่านๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวและไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราๆ ท่านๆ แต่ประการใด ทว่าแท้จริงแล้วชีวิตมนุษย์สัมพันธ์กับความกรุณามากกว่าที่ใครหลายคนเข้าใจ ซ้ำทั้งยังคลับคล้ายคลับคลาจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ สังคมของมนุษย์ ประหนึ่ง ความรัก ความชังและอื่นๆ

ความกรุณาถูกนิยามอย่างหลวมๆ เอาไว้ว่า “การปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์” ในภาษาอังกฤษแปล ความกรุณา เป็นคำว่า Compassion ซึ่งถูกประกอบขึ้นจากคำว่า Co และ Sufferingโดยคำว่า Co นี้เอาไปใส่หน้าคำใดก็จะได้ความหมายว่า Together ดังนั้นเมื่อไปอยู่หน้า Suffering มันจึงมีความหมายว่า การรวมความทุกข์ของผู้อื่นเข้ากับตัวเราหรือการเข้าใจความทุกข์ของผู้อื่นนั่นเอง

ตามที่ได้กล่าวเอาไว้ในย่อหน้าแรกว่า ความกรุณานี้เป็นเรื่องสากล การกล่าวอ้างเช่นนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเกินจริงและเหมือนกล่าวเลื่อนลอยโดยไม่มีหลักฐาน แต่ความจริงแล้วหลักฐานยืนยันมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่คงจะเหมือนเรื่องใต้จมูกไปเสียหน่อย คืออยู่ใกล้จนเกินกว่าจะมองเห็น ตัวอย่างเช่น เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ ก็ปรากฏทุกครั้งไปว่า ประเทศต่างๆ บนโลกนี้พร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กันและกันเสมอๆ ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นที่รู้จักดีก็คือ การติดเหมืองของ 33 ชีวิตในชิลี หรือเร็วๆ นี้ อย่างเหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชรวม 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวงจังหวัดเชียงราย ก็ปรากฏว่าได้รับทั้งความสนใจและการช่วยเหลือจากทั่วทุกมุมโลก

เนื่องด้วยสองเหตุการณ์ข้างต้นอาจจะกล่าวได้หรือไม่ว่า ความช่วยเหลือทั้งจากคนไทยและคนต่างประเทศนั้น“มีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้พ้นจากความทุกข์” เป็นแรงขับเคลื่อน ถ้าใช่ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่ความกรุณาจะเป็นเรื่องสากล เพราะไม่ว่ามนุษย์สัญชาติใด ก็ดูเหมือนว่าจะสามารถเข้าใจความทุกข์ของมนุษย์ด้วยกันได้ทั้งสิ้น

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า “การปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์” นี้เป็นเพียงการนิยามเอาไว้อย่างหลวมๆ มิติอื่นๆ ที่น่านำมาพิจารณาสำหรับคำนิยามนี้มีว่า ถ้าการปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์มีการหวังผลประโยชน์ตอบแทนในอนาคตแอบแฝง เราจะยังถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความกรุณาอยู่หรือไม่? หรือแม้แต่การตามใจลูกเพียงเพราะไม่อยากให้เด็กพบกับความผิดหวังเล็กๆ น้อยๆ– การกระทำดังกล่าว จะเห็นได้ว่าไม่หลุดไปจากนิยาม“การปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์” เลย แต่ในสามัญสำนึกทั่วๆ ไป ดูเหมือนมันจะไม่ใช่ความกรุณา แต่เป็นเพียงเรื่องที่จะทำให้เด็กเสียคนมากกว่า

ความกรุณากับการุณยฆาต
อีกหนึ่งประเด็นที่ดูเหมือนว่าความกรุณาไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องได้เลยก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับ “ความตาย” ทว่าข่าวหนึ่งที่อาจยกขึ้นเป็นเชิงประจักษ์ว่า ทั้งความกรุณาและความตายมีความเกี่ยวข้องกันดูเหมือนจะหนีไม่พ้น ข่าวใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2018 เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อ นายเดวิด กู้ดออล นักวิทยาศาสตร์ วัย 104 ปี เดินทางออกจากบ้าน ณ ประเทศออสเตรเลีย บินข้ามโลกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อจบชีวิตตัวเอง ด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า “การรุณยฆาต” (การฆ่าด้วยความกรุณา)

นายเดวิด กู้ดออล จากไปอย่างสงบขณะกำลังฟังซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบีโธเฟ่น เขาเคยกล่าวเอาไว้ก่อนการการุณยฆาตหนึ่งเดือนว่า "ผมรู้สึกเสียใจที่มีอายุมาถึงขนาดนี้ ผมไม่มีความสุข ผมต้องการตาย ความตายไม่ได้น่าเศร้าอะไรนักหรอก"

ประโยคดังกล่าวท้าทายทัศนะในการจบชีวิตมนุษย์คนหนึ่งเป็นอย่างมาก โดยทั่วๆ ไปแล้วการช่วยให้ตายดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกันกับการฆ่า เพราะการฆ่าและการช่วยให้ตายนั้นก็เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ต้องจบชีวิตลงเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ แพทยสมาคมโลก (อาชีพที่มีแก่นคือการช่วยชีวิตมนุษย์) ได้ประกาศจุดยืนต่อต้านเรื่องการทำการุณยฆาตเอาไว้ว่า

“การกระทำโดยตั้งใจที่จะทำลายชีวิตของผู้ป่วย แม้ว่าจะเป็นการทำตามคำร้องขอของผู้ป่วยหรือญาติสนิทก็ตามถือว่าผิดหลักจริยธรรม แต่ไม่รวมถึงการดูแลของแพทย์ที่เคารพต่อความปรารถนาของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิตซึ่งประสงค์ที่จะเสียชีวิตตามธรรมชาติ” (Euthanasia, that is the act of deliberately ending the life of a patient, even at the patient’s own request or at the request of close relatives, is unethical. This does not prevent the physician from respecting the desire of a patient to allow the natural process of death to follow its course in the terminal phase of sickness.)

ดูเหมือนว่า “การช่วยให้ตาย” จะเป็นหัวใจสำคัญของความขัดแย้งในครั้งนี้ แต่เป็นไปได้ไหมว่ามโนทัศน์ของผู้สนับสนุนการการุณยฆาตจะพิจารณาลงลึกในมิติ “ความทุกข์ทรมานในการมีชีวิต” มากกว่า เพราะมีปรากฏในกระบวนการอนุมัติการการุณยฆาตในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า กระบวนการดังกล่าวจะต้องอาศัยความคิดเห็นทางการแพทย์ถึงสองคน เพื่อยืนยันความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยของผู้ที่จะเข้ารับสิทธิ์

ความข้อนี้ทำให้น่าคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่ผู้สนับสนุนการการุณยฆาตจะมีความเห็นว่า “การช่วยให้ตาย” เป็นการ “ปลดปล่อยผู้ป่วยจากความทุกข์” และช่วยให้จากโลกนี้ไปอย่างสงบสุขเหมือนกับที่ เดวิด กู้ดออล พริ้มตาหลับลงครั้งสุดท้ายพร้อมกับฟังซิมโฟนีหมายเลข 9 ส่วนผู้ที่มีความเห็นไปในทิศทางตรงข้ามอย่างแพทยสมาคมโลกจะยังคงยืนยันว่า “การช่วยให้ตาย” เป็นเรื่องตรงกันข้ามกับการรักษา และไม่มีวันที่จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้ แต่ฝ่ายนี้อาจจะละเลยประเด็นเรื่องความทุกข์ทรมานในการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยไป

อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่ากฎหมายเมืองไทยจะยังไม่ยอมรับการการุณยฆาต แต่การส่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากโลกนี้ไปอย่างสงบสุขก็พอจะมีบริการทางสาธารณสุขมารองรับอยู่บ้าง บริการนี้ถูกเรียกว่า“การรักษาแบบประคับประคอง” (Palliative care) หลักการของแนวคิดนี้ เป็นแนวทางการดูแลที่ให้ความสำคัญกับการบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นทั้งทาง ร่างกาย จิตใจ ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมไปถึงครอบครัว โดยเน้นให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการรักษา, ดูแลมากขึ้น

ความกรุณากับการดูแลแบบประคับประคอง
องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความ “การรักษาแบบประคับประคอง” (Palliative care) ว่าหมายถึงการดูแลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย (ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก) และครอบครัวที่มีปัญหาเกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิต รวมถึงการป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมาน หรือ รวมไปถึงการบริบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง, การบริบาลเพื่อบรรเทาอาการ, การดูแลผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ซึ่งมีแนวโน้มที่ทรุดลงหรือเสียชีวิตลงจากโรคในอนาคต หรือป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยเน้นการดูแลแบบองค์รวม ครอบคลุมมิติกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณของทั้งผู้ป่วย ครอบครัวและผู้ดูแล โดยอยู่บนเป้าหมายหลักคือการเพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ที่จะทำให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการดูแลครอบครัวและญาติภายหลังการจากไปของผู้ป่วย

ทั้งนี้การรักษาที่ครอบครัวของผู้ป่วยเข้ามามีส่วนช่วยในกระบวนการรักษา จะต้องอาศัย“ความเข้าใจในความทุกข์ของตัวผู้ป่วย” เป็นอย่างมาก ทราบหรือไม่ว่าภาวะจิตใจของผู้ป่วยระยะสุดท้าย เมื่อรู้ว่าชีวิตของตนเองกำลังเข้าใกล้ความตาย มักจะมีอาการ ซึมเศร้า (Depression) โกรธ กลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวความตายและรู้สึกเจ็บปวด นั่นยังไม่นับอาการทรุดลงตามกายภาพในส่วนต่างๆ เช่น การสูญเสียภาวะอยากอาหาร หรือกระทั่งการสูญเสียความสามารถในการพูดและได้ยิน และส่วนอื่นๆ ที่สร้างความทุกข์ ความทรมานให้กับผู้ป่วยอีกด้วย

เช่นในกรณีของคุณยายเหลี่ยม ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สามารถยกเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความทุกข์ทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ดี เมื่อคุณยายทราบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก็ตัดสินใจจะรักษาแบบชีวจิต กินยาบรรเทาความเจ็บปวดและปฏิเสธการรักษากับโรงพยาบาล

ปรากฏว่าคุณยายเหลี่ยมนั้นไม่อยากฟังบทสวดมนต์ในช่วงชีวิตสุดท้าย ทั้งๆ ที่ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรานั้น การไหว้พระ ใส่บาตร-ทำบุญ เป็นกิจวัตรประจำวันของคุณยายมาโดยตลอด แพทย์ที่คอยรักษาและแนะนำครอบครัวของคุณยายลงความเห็นว่า “การฟังเทปสวดมนต์นี้ทำให้คุณยายต้องอยู่คนเดียวในห้อง ซึ่งในช่วงสุดท้ายของชีวิตคุณยายอาจจะรู้สึกว้าเหว่ โดดเดี่ยว”

นอกเหนือไปจากเรื่องภาวะจิตใจแล้ว อาการมะเร็งระยะสุดท้ายยังส่งผลรุนแรงต่อร่างกายจนถึงขนาดที่การกลืนยาเม็ดยังเป็นเรื่องยากลำบาก หลานของยายเหลี่ยมกล่าวว่า “พี่ไม่กล้าป้อนยายายแล้ว ถ้ายายสำลักและตายตอนนั้น พี่คงรู้สึกเหมือนเป็นคนฆ่ายาย”

ปฏิเสธได้หรือว่า การเข้าใจความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นหนึ่งในการเยียวยาทั้งร่างกาย จิตใจ และเป็นหนึ่งในกระบวนการส่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ ความข้อนี้สะท้อนให้เห็นว่า “การตายอย่างสงบ” นี้ ไม่ได้ครอบคลุมอยู่เพียงการสิ้นสุดชีวิตลงของผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความรู้สึกของครอบครัวผู้ป่วยอีกด้วย ดังที่ปรากฏให้เห็นว่า ช่วงนาทีสุดท้ายของชีวิตหรือการเสียชีวิตเป็นไปอย่างไรของผู้ป่วยนั้น จะเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวบันทึกเอาไว้อยู่ในความทรงจำตลอดไป

ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองนี้ (Palliative care) มีเป้าหมายหลักคือ ทำให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บางครั้ง หลักคิดดังกล่าวจะปฏิเสธการยื้อชีวิตของผู้ป่วยด้วยเครื่องมือกู้ชีพต่างๆ เช่น การเจาะคอต่อท่อหายใจหรือการใส่สายอาหาร เป็นต้น เพราะการกระทำดังกล่าว แม้จะยืดชีวิตของผู้ป่วยออกไปได้ แต่ก็จะเพิ่มความทุกข์ทรมานให้แก่ตัวผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

การปฏิเสธเครื่องมือกู้ชีพนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับข้อสนับสนุนของฝ่ายสนับสนุนการการุณยฆาต โดยดูเหมือนว่าทั้งสองแนวคิดจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การจากโลกนี้ไปอย่างสงบ มีคุณค่ามากกว่าการมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างทุกข์ทรมาน และประเด็นต่อมาที่ทั้งสองแนวคิดมีความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากก็คือ “ความกรุณา”

เราจะสามารถปฏิเสธได้หรือว่า การประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น จะต้องอาศัยความเข้าใจและการปรารถนาจะให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ ทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ และเรื่องดังกล่าวไม่ต่างอะไรเลยจากความกรุณา ส่วนการการุณยฆาตเป็นไปได้หรือไม่ว่า การทำใจยอมรับว่าคนในครอบครัวที่กำลังจะจากไปด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ ก็ต้องอาศัยความกรุณาเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำใจยอมรับด้วยเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
พรทวี ยอดมงคล, คู่มือสำหรับประชาชน การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), กรุงเทพฯ. 2556
en.wikipedia.org/wiki/Compassion
en.wikipedia.org/wiki/2010_Copiap%C3%B3_mining_accident
www.psychologytoday.com/intl/blog/happiness-in-world/200911/what-compassion-is
www.wma.net/policies-post/wma-declaration-on-euthanasia
edition.cnn.com/2017/06/28/health/california-end-of-life-2016-bn/index.html
www.bbc.com/thai/international-44001955
www.tcijthai.com/news/2018/7/scoop/8109
happydeathday.co/จุดประกาย-การดูแล
happydeathday.co/the-last-minute-of-life/
thaipsychiatry.wordpress.com/2013/03/19/การดูแลด้านจิตใจในผู้ป

[seed_social]
13 ธันวาคม, 2560

คุณค่าจากฟันปลอม

จากประสบการณ์เมื่อครั้งไปหาหมอที่คลินิก ในขณะที่แม่ของเธอกำลังนอนให้น้ำเกลืออยู่นั้น คุณหมอหันมาถามเธอซึ่งขณะนั้นอายุ 7-8 ขวบว่า “หนูกินข้าวกลางวันหรือยัง” ในสายตาคนอื่นอาจจะดูเป็นคำถามธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ
10 มกราคม, 2561

วันที่กายติดเตียง

ชัยพร นำประทีป หรือที่แฟนเพลงจำนวนหนึ่งรู้จักดีในนามของ เอี้ยว ณ ปานนั้น เป็นนักดนตรีเปิดหมวกผู้มีชื่อเสียงคนแรกๆ ของประเทศไทย เมื่อ ๓ ปีก่อน เขาเกิดอุบัติเหตุจากการตกบันได ทำให้ได้รับบาดเจ็บหนักที่สุดในชีวิต
13 เมษายน, 2561

โมงยามที่เปี่ยมชีวิตชีวา

วิลโก จอห์นสัน เป็นนักร้องและมือกีตาร์ชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการก่อเกิดขบวนการพังค์ในอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา