parallax background
 

คนแปลกหน้าในตัวฉัน

ผู้เขียน: แม่ลูกสอง หมวด: ชุมชนกรุณา


 

-การปรากฏตัวครั้งแรก-

กลางดึกคืนหนึ่งของเมื่อสองปีก่อน ข้างกายฉันคือลูกสองคนที่กำลังหลับพริ้ม ส่วนสามีกำลังขยันทำงานอยู่ในห้องข้างล่าง เขาต้องทำงานหนักตอนกลางคืน เพราะกลางวันเขาใช้เวลาช่วยฉันดูแลลูก ในตอนนั้นลูกคนโตอายุ 3 ขวบกว่า ส่วนคนเล็กเพียง 2 เดือนเท่านั้น ฉันมีลูกที่กำลังน่ารัก และสามีที่พยายามดูแลครอบครัวเต็มความสามารถของเขา

แต่ในคืนนั้น ..คนแปลกหน้าในตัวฉันปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรก เธอบอกว่าฉันไม่ไหวแล้ว เกลียดตัวเองเหลือเกิน ฉันเป็นภาระของทุกคน ฉันเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ ถ้าไม่มีฉันอยู่ทุกคนคงมีชีวิตที่ดีขึ้น เสียงของเธอกระซิบอยู่ภายในฉันอยู่หลายคืน

ในยามที่ทุกคนตื่น ฉันพยายามฝืนยิ้ม ฝืนทำเหมือนทุกอย่างยังคงปกติ นี่ฉันเอง นี่แม่เอง แต่ฉันรู้ว่ามันไม่ใช่ คนที่อยู่ข้างในไม่ใช่ฉัน

ฉันไปพบนักจิตบำบัด หาแรงบันดาลใจในการมีชีวิต พยายามอยู่กับความสุขที่มีตรงหน้า สัมผัสเชื่อมโยงกับสรรพชีวิตเพื่อรู้สึกถึงการดำรงอยู่ของตัวเอง คนแปลกหน้าในตัวฉันหายไปได้ราวปีกว่า แต่แล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เธอกลับมาอีกครั้งด้วยพลังที่มากกว่าเดิม

แม้ฉันจะมีสิ่งดีงามรอบตัว มีครอบครัวที่รักฉัน แต่ราวกับสายสัมพันธ์นั้นถูกตัดขาด ฉันไม่รู้สึกถึงคุณค่าความหมายของตัวเอง รู้สึกนึกคิดถึงสิ่งใดก็มีแต่ความวิตกกังวล มองไปข้างหน้าเห็นแต่ปัญหา อย่าว่าแต่ความสุขเลย แค่ความสบายใจที่จะหายใจเข้าออกลึกๆ ยาวๆ ตามปกติก็ยังทำไม่ได้ ฉันแบกความรู้สึกผิด โทษตัวเองทุกเรื่อง ทุกการตัดสินใจ บอกตัวเองซ้ำๆ ว่าถ้าโลกนี้ไม่มีฉันอยู่ทุกคนน่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น

ฉันพร้อมตายทุกวินาที แม้พยายามอย่างยิ่งที่จะหาเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ แต่ความสมควรตายมีน้ำเสียงหนักแน่นกว่า และเพียงท่าทีหรือคำพูดไม่กี่คำของคนใกล้ชิดก็สามารถกลายเป็นกระบอกปืนที่หยิบยื่นมาให้ฉันโดยที่เขาไม่ตั้งใจ

-ใครจะตื่นก่อน-

ฉันเริ่มคุ้นเคยกับคนแปลกหน้า เพราะเราพบกันบ่อยจนฉันเกือบลืมไปแล้วว่าตัวฉันที่แท้นี้เป็นใคร

ในแต่ละวันที่ตื่นขึ้น ฉันทำได้เพียงรอดูว่าใครในตัวฉันจะตื่นก่อนเพื่อเป็นผู้นำพาฉันในวันนี้ คนแปลกหน้าที่คุ้นเคย หรือฉันผู้เคยส่องสว่างแต่กำลังอ่อนแรง

วันที่หญิงแปลกหน้าควบคุมชีวิต อะไรที่เคยง่าย แก้ได้ ไม่เกินทน ก็กลับตาลปัตร แม้เพียงเรื่องเล็กๆ มากระทบ เธอกลับจูงมือฉันลากเข้าไปตกร่องเดิมๆ วนเวียนอยู่กับความคิดซ้ำๆ หาทางออกผิดๆ ผิดแล้วก็เศร้า เศร้าแล้วก็ผิด เส้นทางช่างมืดและแคบ ไม่เห็นอะไรมากกว่าที่เธอพาไป มองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่กว้างไกลกว่านั้น

แต่ในบางวันที่ตัวฉันมีแรงกลับมา ชีวิตแสนง่าย แก้ได้ ไม่เกินทน ความรู้สึกนึกคิดราวกับเป็นคนละคน ฉันรู้เลยว่ามันไม่ง่ายที่จะร้องขอความเข้าใจจากคนอื่น เพราะแม้กระทั่งตัวเอง ฉันก็ยังไม่เข้าใจความไร้เหตุผลที่ตัวเองเป็นในช่วงมืดมนนั้นเหมือนกัน

-เพิ่มภูมิคุ้มกัน-

ฉันเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ทางเลือก และพบกว่าการกินยาช่างน่ามหัศจรรย์ ในวันที่ตื่นขึ้นแล้วตงิดใจว่าวันนี้ไม่ใช่ฉันแน่แท้ เมื่อรีบกินยา หญิงแปลกหน้าก็ค่อยๆ หลับใหล เปิดโอกาสให้ฉันรวบรวมกำลังตื่นขึ้นเพื่อเป็นตัวเอง และในวันที่มีเรี่ยวแรงแสงแดดส่องถึง ฉันจึงมักฉกฉวยเอาจังหวะนั้นทำทุกทางเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง

จากการพูดคุยกับคุณหมอ 3-4 ท่าน ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก พบว่าอาการแบบที่ฉันเป็นมีสาเหตุมาจากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ฮอร์โมนหลังคลอด พันธุกรรม ความกระทบกระเทือนใจในวัยเด็ก อาหารการกิน สารเคมี ฯลฯ

นอกจากกินยา สิ่งที่ฉันทำควบคู่กันไปแล้วพบว่าช่วยฉันได้ก็คือ ดูแลกิจวัตรประจำวันให้เป็นจังหวะเวลาที่ถูกที่ควร เพราะคุณหมอท่านหนึ่งแนะนำว่าภาวะซึมเศร้าสัมพันธ์กับตับ ฉันต้องประคบประหงมตับของฉันเป็นพิเศษ กินข้าวให้ตรงเวลา งดน้ำตาล หลีกเลี่ยงแป้งขัดขาว กินผักผลไม้ตามฤดูกาล งดแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้มากคือการทบทวนชีวประวัติตัวเองตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน ฉันไล่ย้อนทวนเรื่องราวของตัวเองตั้งแต่แรกเกิด เหตุการณ์วัยเยาว์ที่พ่อแม่เล่าให้ฟัง ความทรงจำแรกของฉัน ชีวิตวัยเด็ก ฉันอยู่กับใคร มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดในตอนไหนบ้าง การกระทบกระเทือน ชีวิตวัยรุ่น ฉันมีใครเป็นเพื่อน ชอบไม่ชอบอะไร รักครั้งแรก หนังเรื่องโปรด หนังสือเล่มโปรด ชีวิตวัยทำงาน ความฝันและเป้าหมายคืออะไร เมื่อมีปัญหาฉันรับมือกับมันแล้วผ่านไปได้อย่างไร ชีวิตคู่เป็นอย่างไร ฯลฯ

การทบทวนชีวประวัติตัวเองทำให้ฉันได้เห็นตัวเอง เห็นที่มาที่ไปของเรื่องราวในชีวิต ได้ทำความรู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น ทั้งยังเป็นการถอยตัวเองออกมาจากการจมลึกลงในเหตุการณ์ที่อาจสร้างความเจ็บปวดกระทบกระเทือน ในวันนี้ฉันเป็นเพียงผู้มอง และเหตุการณ์เหล่านั้นได้ผ่านไปแล้ว

การหันไปย้อนมองอดีตเป็นแรงส่งให้ฉันมองต่อไปถึงอนาคต การทบทวนความหมายของชีวิตทำให้ฉันมองเห็นว่าฉันเป็นใคร และฉันจะทำอะไรต่อไป อะไรคือสิ่งที่เป็นคุณค่าของชีวิตฉัน และนั่นคือภูมิคุ้มกันที่ฉันพยายามฉีดเข้าจิตวิญญาณตัวเองโดยหวังจะแย่งชิงพื้นที่ในร่างกายหากหญิงแปลกหน้าคนนั้นกลับมาอีกครั้ง

-โปรดอย่าตัดสินกัน นี่ไม่ใช่คนที่ฉันเป็นตลอดกาล-

เพราะอาการที่ถูกควบคุมโดยคนแปลกหน้าในตัวฉันนั้นยากจะเข้าใจ จึงเป็นการง่ายที่ผู้ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าจะถูกตัดสินว่าอ่อนแอ ไม่สู้ คิดลบ หมกมุ่น น่ารำคาญ ฉันว่าคนที่รู้สึกรำคาญผู้ป่วยซึมเศร้ามากที่สุดคงจะเป็นตัวเอง รำคาญจนอยากไปเสียให้พ้น

การมีชุมชนผู้ป่วยซึมเศร้าที่คอยช่วยเหลือรับฟังเป็นอีกทางที่ช่วยได้สำหรับฉัน เมื่อเห็นความจมดิ่งของคนอื่น ทำให้ฉันมองเห็นตัวตนแปลกหน้าที่ยากจะเข้าใจ เป็นภาพสะท้อนของตัวเองในเวลานั้น และการได้เป็นผู้รับฟังอย่างเต็มหัวใจในเวลาที่ผู้อื่นต้องการ ช่วยให้รู้สึกว่าแต่ละวันผ่านไปอย่างมีความหมาย

ฉันคิดว่าในวันที่ดำดิ่ง สิ่งที่ต้องการคือพื้นที่ที่ฉันจะไม่ถูกตัดสินว่าความรู้สึกหนักหนานั้นไม่ใช่ความจริง พื้นที่ที่ยอมรับความอ่อนแอ ความพ่ายแพ้ ความน่ารำคาญทั้งหลายแหล่ คนซึมเศร้าตัดสินตัวเองตลอดเวลาโดยไม่อาจหยุดได้ นั่นแย่มากพอแล้ว

ในเวลามืดมน ชีวิตเปราะบางราวกระจกที่ร้าวไปทั้งร่าง แค่ลมพัดเบาๆ ก็ร่วงกราวแหลกละเอียด ต้องการเพียงคนที่อยู่ด้วยตรงนี้ รับฟัง อดทนด้วยรู้ว่าสิ่งที่ฉันเป็นอยู่นี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป และยื่นมือมาช่วยเก็บเศษกระจกเหล่านั้นเพื่อประกอบขึ้นเป็นร่างใหม่ ในวันที่ตัวฉันผู้มีแสงสว่างตื่นขึ้นอีกครั้ง

17 เมษายน, 2561

เพียงแค่คิด ก็สุขใจแล้ว

ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง จัดเป็นบุคคลที่มีความทุกข์ สิ่งที่ต้องการมากคือ คนที่ให้กำลังใจ เพื่อหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ให้จิตสงบ การเข้าสู่วัด เข้าสู่ธรรมะจึงเป็นทางที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ที่เป็นชาวพุทธ)
4 เมษายน, 2561

หลักการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้จากไปอย่างสงบทำอย่างไรได้บ้าง

ดีเจโจ้ (อัครพล ธนะวิทวิลาส) แม้ว่าร่างจะเหมือนกับตายแล้ว แต่คนที่ยังอยู่คือแฟนร้องไห้ บอกว่าอย่าเพิ่งไปนะ เขาจึงต้องทน จนกระทั่งแฟนบอกว่าไม่ต้องห่วงแล้ว เขาจึงจากไปด้วยดี เพราะสามารถปล่อยวางได้ ไม่ต้องห่วง
19 เมษายน, 2561

หมออย่าบอกแม่นะครับว่าเป็นมะเร็ง

ฉันรู้สึกประหลาดใจที่เห็นผู้ชายร่างใหญ่พูดไปร้องไห้ไป ผิดกับภาพลักษณ์ของเขาในครั้งแรกที่พบกันที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นวันที่ฉันได้รับปรึกษาให้ช่วยดูแลครอบครัวของเขาที่มีแม่เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย