parallax background
 

ก้าวข้าม ความผิดในใจ

ผู้เขียน: แคทมิน หมวด: How to


 

การเจอกัน หรืออยู่ด้วยกันครั้งสุดท้าย สำคัญแค่ไหนนะ? คำถามนี้ผุดขึ้นมาในระหว่างที่ดูคลิปวิดีโอลิงชิมแปนซีแก่ที่ใกล้ตายมีอาการดีใจเมื่อเห็นผู้ดูแลเก่ามาหา ในคลิปยังบอกรายละเอียดอีกว่า นี่คือแม่ลิงชิมแปนซีอายุ 59 ปี อาศัยอยู่ที่สวนสัตว์รอยัลเบอร์เกอร์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ กำลังอยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เธอไม่ยอมกิน นอนซึม เหมือนรอความตาย Jan van Hooff ผู้ดูแลเก่าทราบข่าว จึงเดินทางมาเยี่ยมเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเจ้า Mama เห็น ก็แสดงท่าทางดีใจสุดๆ ยื่นแขนมาโอบ และยอมกินอาหารที่ป้อนให้ หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เธอก็สิ้นใจลง

ระหว่างที่ดูคลิปด้วยน้ำตาคลอ เรารู้สึกว่าลิงตัวนี้โชคดีจังที่ได้มีโอกาสเจอคนที่รักและผูกพันเป็นครั้งสุดท้าย และสิ่งที่ผู้ดูแลเก่าทำ ไม่ใช่เพียงการมาหา แต่ยังถ่ายทอดความรักผ่านการสัมผัส น้ำเสียง และที่สำคัญคือความรู้สึกว่า “ฉันอยู่เป็นเพื่อนเธอนะ”

ความรู้สึกที่มีใครอยู่เป็นเพื่อน ไม่ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวเป็นสิ่งสำคัญมาก ในผู้ป่วยหลายราย สิ่งหนึ่งที่พวกเขากลัวคือการที่ต้องตายคนเดียว หรือตายไปโดยที่ไม่มีใครรู้ ซึ่งจากความกลัวนี้ ทำให้ผู้ป่วยมีปฏิกิริยาหรือการแสดงออกแตกต่างกันไป เช่น ส่งเสียงเรียกคนในบ้านบ่อยๆ ไม่ยอมนอนในช่วงกลางคืน เพราะคิดว่าคนอื่นๆ ในบ้านหลับ ถ้าตายไปในช่วงเวลานั้นก็จะไม่มีใครรู้ หรือในสัตว์บางตัวก็จะมีปฏิกิริยาคล้ายคลึงกัน เช่น ส่งเสียงร้องเรียก แต่เมื่อมีใครสักคนมาอยู่เป็นเพื่อนก็จะสงบลง หรืออาการกระวนกระวายค่อยๆ น้อยลงไป

ถ้าเรานึกไม่ออกว่าความรู้สึกกลัวที่ต้องอยู่คนเดียวเป็นอย่างไร อาจจะจินตนาการว่า ถ้าเราต้องเดินทางไปในที่ที่ไม่เคยไปคนเดียว ไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง หรือคนที่ไม่เคยนอนคนเดียว แล้ววันหนึ่งต้องนอนคนเดียว ความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร เรากังวลหรือวิตกเรื่องอะไรบ้าง แล้วคนป่วยที่ใกล้ตาย สิ่งที่เขาจะต้องเผชิญนั้นหนักหนากว่าเพียงใด เพราะเขาอาจจะไม่ได้พบเจอกับใครอีกต่อไป

เมื่อคิดมาถึงตรงนี้ ทำให้นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เราเคยดูแลแมวหมาที่ป่วยใกล้ตาย การที่เราได้มีโอกาสอยู่กับเขาในช่วงวาระสุดท้าย ได้บอกความในใจของเราที่มีต่อเขา แน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความเศร้าเสียใจ ไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่อยากให้วันนั้นมาถึง แต่การที่เราได้พูดบอกลา บอกรัก ขอโทษ หรือพูดถึงความรู้สึกดีๆ ที่เรามีต่อเขา ปฏิกิริยาที่ส่งกลับมาไม่ว่าจะเป็นจากแววตา การสัมผัส สื่อได้ถึงความรับรู้ในสิ่งที่เราส่งไปให้ ซึ่งจากการสังเกต การทำแบบนี้ ช่วยลดภาวะความทุรนทุรายที่เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายได้ หรือแม้เขาจะไม่เข้าใจคำพูดที่เราบอก แต่เขาก็รับรู้ได้จากน้ำเสียงที่อ่อนโยน สัมผัสที่อบอุ่น ว่าเขาไม่ได้ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว

การกอดลากันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แนะนำให้ทำถ้าสามารถทำได้ ถ้าถึงเวลาที่เขาต้องไปแล้ว ให้เรากอดและบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย แม้จะเป็นวินาทีที่เจ็บปวดมาก ถ้าอยากจะร้องไห้ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้จดจำวันเวลาดีๆ ระหว่างกันไว้ แล้วปล่อยให้เขาจากไปอย่างสงบ ที่สำคัญให้เชื่อมั่นว่า เราได้ทำทุกอย่างที่สมควรทำครบถ้วนแล้ว

การมีโอกาสดูแลหรืออยู่ด้วยกันในช่วงเวลาใกล้ตาย หลายครั้งพบว่าทำให้ผู้ดูแลมีความรู้สึกผิดติดค้างใจไม่มาก เมื่อเทียบกับการไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ แน่นอนความเศร้ายังคงมีอยู่ แต่ความรู้สึกที่เห็นผู้ป่วยจากไปอย่างสงบจะช่วยให้เราค่อยๆ ยอมรับความสูญเสียนี้ได้

จากเรื่องเล่าที่ได้ยินมา ถึงการดูแลผู้ป่วยอย่างดีมาตลอด แต่ในช่วงสุดท้ายกลับมีเหตุจนไม่ได้อยู่ดูใจ ถึงกับเป็นปมในใจของผู้ดูแลหลายคน และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ก็ยังมีความรู้สึกผิดและซ้ำเติมตัวเองอยู่เสมอ

 

ทำอย่างไรดี เราถึงจะไม่ต้องมีปมแบบนี้ มีสองตัวช่วยที่อาจจะพอทำให้เห็นทางออกได้บ้าง

  1. ให้เวลาที่อยู่ด้วยกันเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพ แน่นอนเมื่อใกล้ชิดกัน ย่อมจะมีเรื่องราวที่ไม่พอใจหรือรู้สึกขัดหูขัดตา ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำบางอย่างที่ส่งผ่านออกมา แต่ถ้าเราเข้าใจเบื้องหลังของคำพูดหรือการกระทำนั้นแล้ว ความรู้สึกขัดใจ ไม่พอใจ อาจจะเปลี่ยนเป็นความเข้าใจกัน หรือเราลองคิดว่า วันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายที่เราได้อยู่กับเขา เพราะเราไม่รู้ว่า วันพรุ่งนี้ เราหรือเขาอาจจะเจอเหตุที่ไม่คาดฝัน ทำให้ไม่ได้เจอกันอีกเลยก็ได้
  2. อยากทำอะไรให้รีบทำ เพราะการผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ดีทั้งเราและเขา หลายคนมักจะคิดว่าเอาไว้ก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป หรือแย่กว่านั้นคือไม่มีโอกาสแก้ตัวใหม่ เมื่อหวนคิดถึงเรื่องนี้ ก็มักจะพูดว่า “รู้อย่างนี้ ตอนนั้นทำไปแล้ว” เชื่อว่า เราคงไม่อยากพูดประโยคแบบนี้ เพราะสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ต่างก็มีเวลาจำกัดทั้งนั้น

นี้เป็นเพียงสองตัวช่วยจากข้อเสนอแนะมากมายที่จะทำให้เราก้าวข้ามความรู้สึกผิดในใจได้ไม่มากก็น้อย เพราะเราคงไม่อยากผิดพลาดหรือมีปมในเรื่องนี้ หรือแม้จะเคยผิดพลาดมาแล้ว ก็สามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ตราบใดที่เราเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำว่า จะ “ดีกว่าเดิม” อย่างแน่นอน

[seed_social]
2 มกราคม, 2561

ทางใคร ก็ทางคนนั้น

จากประสบการณ์ที่ได้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายนั้น เห็นได้ว่าผู้สูญเสียแต่ละรายแต่ละครอบครัว ก็มีวิธีการจัดการตนเองให้ครอบครัวคลายความโศกเศร้าด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกัน
19 เมษายน, 2561

รู้สึกผิดและทำใจไม่ได้ ที่คนใกล้ชิดฆ่าตัวตาย

สาเหตุการตายตามใบมรณบัตร คือกินยาเกินขนาด หลังๆ แม่หลงลืมว่าเก็บของไว้ที่ไหน กลัวหาย เลยเก็บซุกไว้ และหาไม่เจอ จะโทษแม่บ้านเป็นประจำว่าขโมยไปหรือแกล้งแก แล้วจะแช่งคนที่เอาไป
6 ธันวาคม, 2560

สติ มรรคาแห่งการดูแลจิตใจผู้ป่วย

“สติ” หลายคนคำนี้เป็นคำของพระและผู้ปฏิบัติธรรม แต่ความจริงแล้ว สติยังเป็นคำที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรให้ความสนใจ เพราะสติให้ผลอย่างมากในการนำพาผู้ป่วยให้พ้นจากความทุกข์ แม้กระทั่งสามารถเผชิญความตายได้อย่างสงบ บทความนี้จะกล่าวถึงการนำบทเรียนจากงานอบรมและเวทีแลกเปลี่ยนในโครงการสังฆะดูแลผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องนำความรู้ความเข้าใจเรื่องสติมาประยุกต์ใช้เยียวยาจิตใจผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆ