parallax background
 

กอด...เพิ่มพลัง สู้โรค

ผู้เขียน: เทียนสี หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

แปดปีก่อน ผู้เขียนได้ฟังเรื่องราวความมหัศจรรย์ของการกอดในงานเสวนาเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายครั้งหนึ่ง ซึ่งจัดโดยเครือข่ายพุทธิการ่วมกับภาคีเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายโรงพยาบาล ครั้งนั้นมีพยาบาลท่านหนึ่งชื่อคุณพรวรินทร์ นุตราวงศ์ เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อครั้งสามีป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งเมื่อรักษาด้วยเคมีบำบัดได้เพียง ๔ ครั้งจาก ๘ ครั้งเขาก็หมดกำลังใจจนคิดฆ่าตัวตาย เธอจึงกอดเขาและพาเขากลับบ้าน ตัดสินใจหยุดการรักษา คิดเพียงว่าหากเขาต้องตายขอให้ตายอยู่ท่ามกลางความรักของทุกคนในครอบครัวดีกว่า นับจากนั้นเธอกอดและบอกรักสามีทุกวัน “แอ้รักพี่ พี่อย่าตายนะ อยู่กับแอ้ อยู่กับลูก ไม่มีพี่ แอ้เลี้ยงลูกไม่ได้” เธอกอดสามีแนบแน่นและเฝ้าบอกรักซ้ำๆ เช่นนี้วันละนับสิบๆ ครั้งอย่างไม่รู้จักเบื่อ เธอกอดและดูแลสามีอย่างดีจนในที่สุดเขาก็กลับมามีสุขภาพแข็งแรงราวปาฏิหาริย และยังมีชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขจนปัจจุบัน นอกจากคนใกล้ชิดแล้ว คุณพรวรินทร์ยังใช้การกอดเป็นการเยียวยาและให้กำลังใจผู้ป่วยรวมถึงญาติ นอกจากเธอจะกอดผู้ป่วยและญาติที่เธอดูแล เธอยังแนะนำญาติให้กอดคนไข้บ่อยๆ (โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อแม่ลูกกัน) เพราะการกอดเป็นวิธีการสื่อความรัก ความอบอุ่น ความห่วงใย ความปรารถนาดี และความรู้สึกต่างๆ ไปสู่กันและกันโดยไม่ต้องใช้คำพูด เป็นการส่งพลังจากใจสู่ใจ เวลากอดกันจึงเหมือนได้เพิ่มพลังให้ทั้งผู้ที่กอดและผู้ถูกกอด เป็นการรักษาใจไม่ให้ป่วยไปกับกาย เมื่อใจไม่ป่วยกายก็หายจากความเจ็บป่วยได้เช่นกัน

หากจะอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีงานวิจัยหลายชิ้นกล่าวถึงประโยชน์ของการกอดต่อสุขภาพไว้ว่า เวลาที่เรากอดหรือถูกกอดจะกระตุ้นการทำงานของฮีโมโกลบิน ทำให้เม็ดเลือดแดงลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง ช่วยให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา นอกจากนี้ การกอดกันเพียงแค่ ๑๐ วินาที สมองจะหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรักความผูกพันและความไว้วางใจให้เพิ่มขึ้น ทำให้หลอดเลือดหัวใจผ่อนคลาย ลดความดันโลหิต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย ที่สำคัญมีผลวิจัยล่าสุดโดยทีมนักวิจัยชาวเยอรมันค้นพบว่า ฮอร์โมนออกซิโตซินมีผลทำให้ผู้ชายที่มีคู่หรือแต่งงานแล้ว สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้เผลอใจไปกับสาวๆ ที่เข้ามาใกล้ชิดได้มากกว่าปกติ บรรดาภรรยาได้ยินอย่างนี้แล้วรีบกลับไปกอดสามีบ่อยๆ และด่วนๆ ด้วยค่ะ เพื่อลดความเสี่ยงสามีปันใจไปให้หญิงอื่น (ฮา)

การกอดกันวันละครั้งสองครั้งยังช่วยเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนความสุขทั้งโดปามีน เอนโดรฟิน และเซโรโทนิน ช่วยให้จิตใจแจ่มใส และเพิ่มภูมิต้านทานโรคร้ายได้ดี เพราะความอบอุ่นช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ต้านการติดเชื้อ นอกจากนี้ สัมผัสจากการกอดยังช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดให้ต่ำลง จึงช่วยลดความเครียด ความกระวนกระวาย แถมยังลดอัตราการเต้นของหัวใจ และช่วยให้หลับสนิทมากขึ้น

อานุภาพของการกอดยังไม่หมดเพียงแค่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพกาย แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพใจอีกด้วย ลองนึกดูสิคะว่าเวลาที่เราอยู่ในอ้อมกอดของคนที่เรารักและรักเรา เรารู้สึกอย่างไร?...ใช่แล้วค่ะ การกอดช่วยให้เรารู้สึกอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย ผ่อนคลาย ไว้วางใจ มีคนเข้าใจ ได้รับการยอมรับ เป็นที่รัก คลายเหงา คลายความอัดอั้นตันใจ บรรเทาอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ช่วยให้รู้สึกดีต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม คนที่ได้รับการกอดบ่อยๆ จะมีความรู้สึกพึงพอใจ  มีความสุข กระตือรือร้น ร่างกายและอารมณ์มีความเข้มแข็งพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้ดี สำหรับเด็กๆ การกอดช่วยเพิ่มพัฒนาการทางภาษาและเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี สร้างความมั่นคงทางอารมณ์ และสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย การกอดยังช่วยเติมเต็มความรู้สึกอ้างว้างภายในจิตใจ เพราะการกอดเป็นภาษากายที่สื่อว่าเขายังรักและเห็นความสำคัญเราอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปมากขึ้นด้วย

 

การกอดยังให้ผลดีกับผู้ที่กอดด้วย เพราะนอกจากจะช่วยให้รู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับแล้ว ยังช่วยให้ผู้นั้นเรียนรู้ที่จะเปิดเผยความรู้สึกของตนเองกับคนรอบข้าง อันจะเป็นสะพานก่อให้เกิดความใกล้ชิดสนิทสนม สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันได้ง่าย ทั้งยังเป็นการบ่มเพาะความเมตตาในใจและส่งออกไปผ่านอ้อมกอด ซึ่งเมื่อทำบ่อยๆ จะช่วยให้จิตใจอ่อนโยน มองผู้คนรอบข้างในแง่ที่ดี และมีความสุขอยู่เสมอ

กอดอย่างไรให้ใจสัมผัสใจ

แม้ทุกคนจะเคยมีประสบการณ์การกอดมาแล้ว แต่อยากเชิญชวนให้ลองกอดด้วยหัวใจตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญการกอดหลายๆ ท่าน ดังนี้ดูค่ะ การกอดที่ดีควรกอดโดยให้แขนและมือทั้งสองข้างสัมผัสกับหลังของผู้ถูกกอดอย่างอิสระต่อกัน ไม่กอดแขนตัวเอง หรือโอบโดยจับมือตัวเองไว้ระหว่างกอด กอดนิ่งๆ แน่นๆ นานๆ และถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ ไปสู่เขาอย่างจริงใจ

ไม่โยกตัว ไม่ตบหลัง ระหว่างที่กอด เพราะจะเป็นการกลบเกลื่อนความรู้สึกทั้งของเราและเขา และอาจแสดงถึงความไม่เท่าเทียม ทำให้ผู้ถูกกอดรู้สึกด้อยกว่าได้ กอดด้วยความรู้สึกทั้งหมดที่มีโดยปล่อยวางความกังวลต่างๆ ลง หากรู้สึกเขินอาย ไม่ผ่อนคลาย อย่าเพิ่งรีบผละออก ลองให้โอกาสตัวเองได้กอดให้นานขึ้น และรับรู้ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยไม่ผลักไส ปล่อยให้ใจสัมผัสใจผ่านอ้อมกอดของกันและกัน

กอดจนกว่าจะรู้สึกว่าเราได้ถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ ไปสู่เขา และเขารับไว้หมดแล้วค่อยถอนตัวออกจากกัน

หลายคนแม้จะเห็นข้อดีของการกอดมากมายดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่ก็ไม่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกเขินอาย ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิดเช่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทำให้ไม่กล้าแสดงความรักด้วยการกอด มีข้อแนะนำถึงเทคนิคง่ายๆ ที่อาจช่วยลดความเก้อเขินลงได้ ดังนี้ค่ะ

คิดเสมอว่ากอดเป็นธรรมชาติของคนเรา เรากอดมาตั้งแต่เด็ก ฉะนั้น กอดดีกว่าไม่กอด ลองนึกง่ายๆ ถึงเวลาที่เราเป็นเด็กและพ่อแม่หรือคนที่เรารักมากอด เรารู้สึกอย่างไร?...อบอุ่น รับรู้ได้ถึงความรัก...คนที่เราจะกอดก็คงจะรู้สึกเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ต้องลองกอดดูก่อนแล้วค่อยสังเกตปฏิกิริยาว่าเป็นอย่างไร

แรกๆ ที่ฝึกกอดอาจถูกปฏิเสธ (โดยเฉพาะกับพ่อแม่ซึ่งห่างหายจากการกอดลูกไปนาน หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการกอด) ให้คิดว่าทุกคนก็ต้องการการกอดทั้งสิ้น เพราะการกอดเป็นการแสดงความรักที่ไม่ต้องใช้คำพูด ฉะนั้น ควรเข้าใจว่าเขาก็อาจจะเขินเช่นเดียวกับเรา ไม่ใช่เขาไม่ต้องการให้กอด และลองกอดบ่อยๆ สักพักก็จะชินกันไป และเมื่อนั้นเราจะตระหนักว่าแท้จริงแล้วเขาก็ต้องการการกอดเช่นเดียวกับเรานั่นเอง

ผู้เขียนเคยใช้การล้อมวงกอดเป็นกิจกรรมหนึ่งในการอบรมเยียวยาผู้ดูแลผู้ป่วย แรกๆ หลายคนก็เขิน ไม่กล้ากอดอย่างจริงใจ ยังกอดหลวมๆ กอดไปเขินไป แต่พอให้กอดเปลี่ยนคนไปเรื่อยๆ เมื่อเริ่มคุ้นเคยก็กล้ากอดด้วยหัวใจ และทุกครั้งเมื่อจบกิจกรรม น้ำตาแห่งความปลื้มปิติและพลังแห่งความสุขก็อบอวลอยู่ทั่วห้อง ทุกคนยืนยันถึงความอบอุ่นและความรักที่ท่วมท้นสัมผัสได้จริง แม้กระทั่งผู้ชายที่บุคลิกดูนิ่งๆ แข็งๆ ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ความรู้สึกยังซาบซึ้งและประทับใจกับกิจกรรมกอดเลยค่ะ

ลองเปิดหัวใจ อ้าแขนโอบกอดคนที่คุณรักและใกล้ชิดดูสักครั้ง เมื่อกายสัมผัสกาย ความรู้สึกภายในใจก็หลั่งไหลถ่ายเทไปสู่กันได้ง่ายขึ้น บางครั้งอาจไม่ต้องอาศัยคำพูดใดๆ ก็รับรู้ได้ถึงความรัก ความปรารถนาดี ที่ไหลวนอยู่ตลอดเวลาของความสัมพันธ์ เพียงแต่บางครั้งมันถูกบดบังด้วยความเร่งรีบ เคยชิน  หรือแม้กระทั่งคำพูดและท่าทีบางอย่างที่เป็นกำแพงกั้นความสัมพันธ์ ลองกอดกันบ่อยๆ จะพบว่ากำแพงในใจค่อยๆ สลายไป เปิดเผยให้เห็นความรักผ่องใสบริสุทธิ์ที่ทุกคนมีอยู่แล้วในใจ เมื่อใจเปิด ความรักก็พรั่งพรูสู่กันและกันอย่างมีพลังเพราะไม่มีสิ่งใดขวางกั้น การกอดจึงเป็นการเพิ่มพลังกาย เสริมพลังใจ ให้เราสุขภาพดี เป็นภูมิคุ้มกันชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แม้กระทั่งผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานทางกาย อ้อมกอดที่อบอุ่น จริงใจ ก็เป็นเหมือนทิพย์โอสถที่ช่วยเยียวยาใจให้เข้มแข็ง ไม่อ่อนแรงไปตามกาย เมื่อใจไม่ป่วย ก็ส่งผลถึงกายให้ดีขึ้นตามไปด้วย และสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ใกล้จะจากไป แม้การกอดจะช่วยให้เขาหายจากโรคไม่ได้ แต่ก็ช่วยให้เขาตายอย่างสงบและมีความสุขได้ในวาระสุดท้ายของชีวิต

 การกอดมีอานุภาพมากมายเหลือคณานับเช่นนี้ เรามากอดเพื่อเพิ่มพลังกาย เสริมพลังใจ กระชับความสัมพันธ์ให้

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

อุบัติเหตุ อุบัติธรรม

อริยสัจสี่เห็นเลยว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างไร คือไม่ถึงกับว่าหลุดพ้น แต่อย่างน้อยเราเข้าใจกระบวนการเกิดทุกข์ เพียงแต่สติเรายังไม่มากพอที่จะชึบๆๆ ยังไม่คมพอ ปัญญาเรายังไม่เฉียบคมพอ ต้องลับไปเรื่อยๆ
22 เมษายน, 2561

วิถีแห่งจิตวิญญาณ

“ถามว่าทำอย่างไร ถ้าพี่ตอบเป็นข้อๆ เป็นขั้นเป็นตอนเลย ก็จะไม่เห็น How to ขอเล่าเรื่องการดูแลคนไข้ให้ฟังสักคนดีกว่า แล้วตอนท้ายเราอาจได้วิธีการประเมิน และเข้าถึงความต้องการของคนไข้ได้บ้างนะคะ”
19 เมษายน, 2561

ตำราเล่มใหญ่คือคนไข้

“พี่ทำงานแบบนี้ตั้งแต่ยังไม่มีการสั่งการ” ระยะเวลายาวนานที่พี่เกื้อ หรือคุณเกื้อจิตร แขรัมย์ ทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ทำให้ได้พบคนไข้และญาติจำนวนมากซึ่งมีความต้องการต่างกัน