ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมงาน I SEE YOU contemplative care #1 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา งานนี้เผยให้เห็นความเป็นชุมชนของผู้สนใจเรื่องชีวิตและความตายที่เข้มแข็งและอบอุ่น ชวนสนใจและสงสัยว่าเหตุใดชุมชนนี้จึงก่อเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องความเจ็บป่วยและความตาย ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าอภิรมย์นัก
ผู้ที่จะฉายภาพการเกิดขึ้นและดำเนินไปของกลุ่ม I SEE YOU ได้ชัดเจนที่สุดคืออรุณชัย นิติสุพรรัตน์ หรือ “พี่ชัย” ชายผิวขาวท่าทางคล่องแคล่วผู้มีใบหน้าฉายรอยยิ้มส่งมิตรภาพอยู่เป็นนิตย์ และเป็นชายท่าทางอ่อนโยนที่อยู่ในคลิปวิดีโอเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ฉายรอเวลาเริ่มกิจกรรมนั่นเอง
เขาคือผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากการพบปะกับพระครรชิต อกิญจโน เจ้าอาวาสวัดวีรวงศาราม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาลและชุมชนในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย ที่เขาเรียกขานว่า “พระอาจารย์” และต่อมาก็ปวารณาตัวทำงานสร้างกลุ่มไอซียูที่ให้ความรู้ชาวเมืองในดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จนกลายเป็นชุมชนที่ฉันเห็นในวันนี้
ฉันพูดคุยกับพี่ชัยในช่วงหลังเลิกงานระยะเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง เพื่อฉายภาพอดีต อนาคต และปัจจุบันทั้งของ “พี่ชัย” ในฐานะหัวเรือใหญ่ของกลุ่ม และกลุ่มไอซียู รวมทั้งปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้กลุ่มไอซียูเป็นที่อยู่จักภายในเวลาไม่นานนัก และยังสร้างชุมชนที่ใกล้ชิดและเข้มแข็งถึงปัจจุบัน
ความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน
ก่อนหน้านี้เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว หลังเจอพระอาจารย์ครรชิตก็คิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่คือหาเงินไม่ใช่คำตอบ ตัดสินใจเลิกทำธุรกิจเพื่อมาดูแลพ่อ ตอนนั้นพ่ออายุ 99 ปี แล้ว การใช้ชีวิตเต็มที่กับพ่อ เป็นช่วงสามปีสุดท้ายที่มีคุณค่ามาก
ปกติปฏิบัติธรรมก็คือปฏิบัติธรรม ดูแลพ่อก็ดูแลพ่อ แต่นี่เอาการเจริญสติมาใช้กับการดูแล พ่อเป็นคนอายุยืน แข็งแรง และดูแลตัวเองดี แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่ามันไม่พอ ชุดความรู้นี้ (จากพระอาจารย์) เอามาใช้ดูแลพ่อได้ดีมากขึ้น ได้ตอบโจทย์เราและพ่อมากขึ้น
พอพ่อเสียไปอย่างงดงาม ก็ยิ่งมั่นใจว่าสิ่งนี้ใช่ ไม่มีความลังเลสงสัยอีกต่อไป สำหรับคนๆ หนึ่งถ้าต้องเสียชีวิตไป ควรจะได้รับสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่เจอพระอาจารย์ครรชิตเราก็อาจทำได้ระดับหนึ่ง แต่พอมาเจอพระอาจารย์ และอาจารย์กำพล (ทองบุญนุ่ม) เราก็ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจเรื่องราวก่อนเสียชีวิตของคน และเราควรมีความสัมพันธ์กับเขาแบบไหนอย่างไร ก็เลยทำให้มั่นใจมากขึ้นและเป็นแรงบันดาลใจว่าจะทำภารกิจเหล่านี้
จากภูมิภาคสู่เมืองกรุง
กิจกรรมแรกๆ คือการตามพระอาจารย์ครรชิตไปกิจกรรมในโครงการพระสงฆ์ในโรงพยาบาลชุมชน เวลาเราไปจัดอบรมให้กับทางโรงพยาบาล ต้นสังกัดจะรวมเอาอสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) และพระสงฆ์เข้ามา เขาก็จะจัดแบบเป็นวาระเสียส่วนใหญ่ สมมติว่าได้ 80 คน วันสุดท้ายก็จะเหลือ 30 คน ซึ่งเราก็ทำไป
ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ คิดว่าทำงานตามที่พระอาจารย์บอกมา แต่หลังๆ มาพอทำตามภูมิภาคก็รู้สึกว่าเราเป็นคนเมือง เราไม่มีอสม. และกรุงเทพไม่มีบริบทของชุมชนหลงเหลืออยู่ในแล้ว เราก็เลยอยากจะทำอะไรให้คนกรุงเทพ เพราะเราเป็นคนกรุงเทพ เรายังประสบความสำเร็จกับการดูแลพ่อเราได้ คิดว่าคนกรุงเทพน่าจะทำได้
แล้ววันหนึ่งเราไปประชุมกับหอจดหมายเหตุกรุงเทพเรื่องจัดงานจิตตนคร (พ.ศ.2557) เมื่อรู้ว่าทางหอจดหมายเหตุฯ เปิดให้องค์กรอื่นไปทำกิจกรรมได้ก็เลยถามพระอาจารย์ว่าเอามั้ย พระอาจารย์ตอบว่า “ดีสิ”
“ผมไม่มีใครเลยนะ มีอยู่คนเดียว” ผมบอก
“ไม่เป็นไร เดี๋ยวพระอาจารย์ช่วย” พระอาจารย์บอก
แล้วท่านก็ช่วยแบบนำคนมาจากต่างจังหวัด เราจึงเห็นว่าถ้าจะขับเคลื่อนคนกรุงเทพก็ต้องสร้างทีม นั่นเป็นที่มาของกลุ่มไอซียู
จิตอาสา...มากกว่าช่วยเหลือผู้อื่นคือขัดเกลาตัวเอง
ผมได้ไปอบรมหลักสูตรวิทยากรกับธนาคารจิตอาสา พอมาโฟกัสเรื่องการสร้างทีม ผมได้กระบวนการการสร้างทีมมาจากธนาคารจิตอาสาล้วนๆ เลย มีชุดเครื่องมือต่างๆ ที่ทำให้การทำงานจิตอาสามีความหมายมากกว่าแค่การไปช่วยเหลือคนอื่น แต่กลับกลายเป็นการฝึกขัดเกลาตัวเอง มันเป็นการปฏิบัติธรรมในรูปแบบของจริง ไม่ใช่รูปแบบเข้าคอร์สปิดวาจา อันนี้ไดนามิคมาก
เราก็ขอพระอาจารย์เอาเครื่องมือเหล่านี้แทรกซึมเข้าไปในคอร์สปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ด้วย ซึ่งตอนหลังก็เลยกลายเป็นหลักสูตร “ธรรมมะรักษาใจผู้ป่วย” ตอนนี้มีครั้งที่ 8 แล้ว จัดปีละ 2 ครั้งที่เราเป็นเจ้าภาพเอง ส่วนคนอื่น เช่น ยุวพุทธ การบินไทย หรือเอกชนที่อยากเป็นเจ้าภาพ หาคนมาอบรมได้ เราก็ยินดีไป มีพระอาจารย์ (ครรชิต) พี่เกื้อ (เกื้อจิตร แขรัมย์) และจูน (พท.ผศ.ดร. จิตรวีณา มหาคีตะ) เป็นทีมงาน แล้วค่อยๆ สร้างทีมมาเรื่อยๆ
จากเริ่มต้นที่เราคิดว่าเราอยากไปช่วยผู้ป่วย ตอนนี้ I SEE YOU กลายเป็นสังฆะการเรียนรู้ในการเป็นผู้ให้อย่างถูกต้อง เป็นผู้ให้ที่ไม่ลุกล้ำพื้นที่อีกฝ่ายหรือทำให้เขาด้อย หรือเขาไม่ต้องการ มันเป็นวิถีที่เราคิดว่าเป็นอริยะ ที่เราไม่ได้จากการปฏิบัติธรรมในรูปแบบเดิมๆ ตามสถานปฏิบัติธรรม
ถ้าเป็นปฏิบัติธรรมรูปแบบเดิมๆ เราก็จะมาฝึกฝนขัดเกลาเฉพาะตน แต่ยังไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ซึ่งเป็นความจำเป็นของชีวิต เราก็ได้เรียนรู้จากการเยี่ยมผู้ป่วยนี่แหละว่าการที่คนหนึ่งจะไปปลีกวิเวก ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นละได้แล้วนะ บางทีเหมือนเป็นการหนีปัญหา มันทำให้ I SEE YOU มีความหมายรอบด้านมาก มันทำให้เราเข้าใจชีวิตของตัวเองและคนอื่น เป็นพลวตที่เรารู้สึกว่าโชคดีที่ได้มาอยู่ตรงนี้ สามารถทำให้คนอื่นเห็นด้วยและอยากทำตาม
“ตีเหล็กตอนร้อน” “จุดแข็งไอซียู
จุดเด่นของเราคือหลังอบรมไปแล้วเราจะไม่ทิ้ง บางที่หลังอบรมไปแล้วหนึ่งเดือนผ่านไปก็ค่อยๆ หายไป กลับไปอยู่แบบเดิม แต่เราค่อยๆ เปิดพื้นที่ทำงานและให้คนที่อบรมเหล่านี้ได้มาฝึกฝนอย่างเป็นประจำ ซึ่งเริ่มต้นจากที่ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย และไม่มีคอนเนกชั่นกับโรงพยาบาลที่ไหนเลย จนตอนนี้เรามีเครือข่าย 6 โรงพยาบาลที่ให้เราเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยได้
การเรียนรู้จากในคอร์สก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่เอาไปทำ มันก็ไม่เปลี่ยนแปลง (Transform) เขาก็ยัง “ชั้นรู้ดี แต่ชั้นทำไม่ได้” การที่เราพาไปเยี่ยมคนป่วย เขาก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่เขารู้ เวลาไปเจอหน้างานแล้วเขาพลาดตรงไหน ไปเยี่ยมเสร็จแล้วก็จะขอการบ้านให้เล่าเรื่องหน่อยว่าวันนี้แล้วได้อะไรมา ซึ่งตรงนี้ใครอยากทำก็ได้ ตามกำลัง เราเห็นพลังของการเล่าเรื่อง
คอร์สอบรมหนึ่งมีคนเข้า 40 คน ส่วนใหญ่จะมาเยี่ยมไข้เกือบหมด แต่อาจจะเป็นครั้งเดียว แล้วเป็นผู้สังเกตการณ์ไป แต่ละคอร์สจะได้สายแข็ง 5-10 คน ปีหนึ่งอาจได้ตัวจริงเสียงจริง 20 คน พอเริ่มมีกิจกรรมต่อเนื่อง นอกจากเยี่ยมผู้ป่วยยังมีประชุมครึ่งปี และ I SEE YOU STRONG สำหรับต่อยอดให้คนที่แข็งขันมีกิจกรรมทำร่วมกัน เช่น ทำเวิร์กชอปเรื่องความสัมพันธ์
เราจะปั่นให้ไม่หยุด ไม่ให้ตก (หัวเราะ) ถ้าเราเจอสายแข็งแล้ว ทิ้งไปจะเสียของ “ต้องตีเหล็กตอนร้อน” สมมติเราอบรมแล้วทิ้งช่วงอีก 2-3 เดือนมาเรียก มันห่างและผ่านไปแล้ว หลัง ๆ เราเริ่มมีโรงพยาบาลที่เราเชื่อมโยงได้ เราเอาเรื่องราวต่างๆ มาไว้ในห้องไลน์ปิด ทำให้มีพลังขึ้นมา ทำให้เขาไม่อยากทิ้งไป ในห้องไลน์มีประมาณ 200 คน คนที่แลกเปลี่ยนมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้สังเกตการณ์ แต่พอมีอีเว้นต์เขาก็มา ก็เริ่มกลายเป็นชุมชน
“เปิดพื้นที่” และ “วางใจ”
มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไอซียูเกิดขึ้น แต่หลักๆ เลยคือทุกคนที่กำลังอยู่ในช่วงการค้นหาตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเอง พอเขาได้มาสัมผัสได้เรียนรู้กระบวนการ เหมือนเขาได้มาอยู่ในพื้นที่ที่เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้และไม่ถูกเร่งรัดว่าจะต้องเป็นอะไรในวันสองวัน เราไม่คาดหวังว่าทุกคนจะต้องแอคทีฟ ต้องมาเยี่ยมคนป่วยกับเรา
สิ่งสำคัญคือเราวางใจถูก ถึงแม้จะหลงทิศหรือพลาดบ้าง แต่เราวางใจถูก เราจะกลับมาได้ เช่นงานนี้ที่จัดเป็นครั้งแรก ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมคงจะเครียดมาก แต่งานนี้ผมฝึกตัวว่าจะถอยออกมา ให้น้องๆ เขามีบทบาท ซึ่งยากสำหรับผม ผมเป็นลักษณ์ 3 (นพลักษณ์) ต้องสำเร็จแบบเลิศ เน้นประสิทธิภาพ
งานนี้ผมก็ต้องทำงานกับตัวเอง ถ้าเราทำงานแบบที่เราวางใจว่าเราจะเรียนรู้กับมัน จะไม่เอาผิดเอาถูก เราไม่ทิ้งประสิทธิภาพแต่ถ้าเราวางใจว่า “ไม่เป็นไร” “ผิดได้” บอกกับน้องๆ และตัวเองว่า “ไม่ต้องกลัวผิดเลยนะ ถ้าผิดมันน่ารักมากเลย” แล้วเราก็ได้ฝึก
จากเมื่อก่อนที่เราเป็น One Man Show ทำอยู่คนเดียวเพราะเรามั่นใจว่าฉันเก่ง ฉันดี ฉันถูก วันนี้ก็ได้เรียนรู้ตรงนี้ นี่ครับผมคิดว่ามันเป็นเคล็ดลับอันหนึ่งที่ทำให้ I SEE YOU มาถึงวันนี้ ให้เขาผิดเหมือนที่เราก็เคยผิดเหมือนกัน เมื่อก่อนเรามาใม่ถึงตรงนี้เพราะเราไม่ยอมรับ ไม่ยอมให้ความผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะเครียดและเอาจริงเอาจังมาก แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าการได้ผิดมันเจ๋งกว่า
ภารกิจอนาคต...อยากเห็นคนรักกันเป็น
เราทำ “คอร์สเปลี่ยนชีวิต” เพราะในอนาคตอยากเห็นคนรักกันเป็น อยากเห็นคนมีโอกาสสื่อสารกันด้วยใจอย่างแท้จริง ซึ่งถึงจุดหนึ่งเราพบว่ามันง่ายมาก เราคิดว่าใช้เวลาสามวันเราสามารถพาเขามาถึงหน้าประตูที่จะเปิดหัวใจเขาได้ เราสำเร็จแล้วที่ทำให้คนๆ หนึ่งรักตัวเองได้ ไม่ต้องป่วยก็ได้ แค่ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่ยังไม่ป่วย ทุกวันนี้ก็ยังมีงอนกันอยู่ โกรธกันอยู่ และสื่อสารกันไม่เป็น ซึ่งเรามองว่านี่คือเส้นทางที่เขาจะพากันไปถึงจุดจบ จะเห็นว่าจุดจบแล้วจะยากหรือง่าย
พระอาจารย์ไพศาลบอก อยู่อย่างไงก็ตายอย่างงั้น ถ้าวันนี้คุณยังไม่โอเค ตอนนี้เป็นแบบนี้ แล้วความซับซ้อนระหว่างทางจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าคุณไม่รู้จักถอยไปตั้งหลักหรือรู้ตัวว่าตอนนี้ไม่ใช่นะ ถ้าไม่มีใครมาทำให้เขาเห็นเขาก็ยังคิดว่าเขาถูกเขาดี ฉันทำดีที่สุดแล้ว แต่มันไม่ใช่นะ สามวันนี้เราทำให้คุณรู้ว่าที่คุณเจ้าใจว่าทำดีที่สุดแล้ว มันยังมีดีกว่านี้อีกนะ
แก่นหลักในการอบรมสามวันคือเรื่องสติที่เราไม่ได้พูดแบบภาษาพระ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ ในส่วนของพระอาจารย์พูดเรื่องการเจริญสติแบบภาษาบ้านๆ เข้าใจง่ายๆ สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
“คอร์สเปลี่ยนชีวิต” เป็นเหมือนฟอรัมที่เขาขายกันคอร์สละเป็นหมื่น แต่ว่าเราจัดฟรี คนไปฟอรัมบอกว่ามันเลิศมันดี แต่อีกสองเดือนก็กลับเข้าสู่ความเคยชินเดิมที่คุณเคยกระแทกของใส่คนที่คุณรัก แต่ของเรา เราไม่ให้คุณล้มเลิกไปง่ายๆ เราจัด after sales service ให้ด้วย
องค์กรที่ไม่ขาด(เงิน)ทุน
ครั้งแรกผมเคยเป็นเจ้าภาพจัดพระมาเทศน์หนึ่งวัน ผมก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งก้อน จนพระอาจารย์เป็นห่วง แต่เรารู้สึกว่าไม่ได้เบียดเบียนตัวเองมาก ครั้งที่ 2 3 4 มันก็ค่อยๆ ไปของมันเอง ตอนนี้เราขายเสื้อ เป็นวิทยากรก็เอาเงินค่าวิทยากรเข้ามาไว้ในกองทุน ตอนนี้กองทุนก็ใหญ่จนสามารถพิมพ์หนังสือแจกฟรีได้ 7,000 เล่ม (เกื้อจิตร แขรัมย์ พยาบาลผ่าทางตัน)
ตอนนี้เงินขายเสื้อและเงินทุกบาททุกตังค์ก็ใช้อย่างคุ้มค่ามาก เรารู้จักคุณค่าของมัน มันจะไม่มีทางหมด ทุกวันนี้เราไม่ต้องไปบอก มีแต่คนมาให้ เราวางท่าทีที่จะไม่ปฏิเสธ แต่ไม่รับเสียจนทำให้เราลำบากใจ
ที่เขาบอกว่ายิ่งให้ยิ่งได้นี่มันเป็นอย่างนี้เอง ถ้าเราไปกำหนดเราจะได้แค่นั้น แต่ถ้าเราไม่กำหนดมันจะมาแบบนั้นทุกครั้ง ก็เลยยิ่งทำให้เรามั่นใจกับเส้นทางนี้ ส่วนในอนาคตมีโครงการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เชื่อมโยงกับการเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อหารายได้เข้าองค์กร ซึ่งค่อยคุยกันโอกาสต่อไป
บุคคลสำคัญ อรุณชัย นิติสุพรรัน์
เครดิตภาพ ...ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์, Facebook แฟนเพจ I SEE U Contemplative Care