parallax background
 

กลับสู่ธรรมชาติแห่งกรุณา
เก็บข้อคิดจากบทสนทนาของ
อ.ประมวล เพ็งจันทร์

ผู้เขียน: นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

เช้าวันที่อากาศแจ่มใส หัวใจเบิกบาน ฉันเตรียมกายใจเพื่อพาตัวเองไปร่วมวงสนทนากับเพื่อนมิตร และ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ครูทางจิตวิญญาณ ที่เรามักได้รับความชุ่มเย็นทางใจกลับไปเสมอ

ไม่ทันที่งานเริ่ม มีข้อความจากอดีตเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานนับ 10 ปี เธอบอกว่ากำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน ต้องการใช้เงิน 7 หมื่นบาท ขอให้ช่วยโอนให้เช้านี้ เธอบอกด้วยความรู้สึกเกรงใจ แม้ฉันจะอยากช่วยเหลือ แต่ด้วยจำนวนเงินที่มีไม่มากพอ จึงบอกไปตามตรง เธอแสดงความเข้าใจ และบอกขอยืมตามจำนวนที่เราสะดวก

ฉันรู้สึกลังเลระหว่างความคิดเชิงเหตุผล ประสบการณ์ทางโลกที่ประเมินโดยรูปการแล้ว การยืมเงินในลักษณะนี้น่าจะนำมาซึ่งความยุ่งยากในภายหลัง แต่ใจหนึ่งก็อยากให้โอกาสตัวเองในการให้ความช่วยเหลือ และให้โอกาสเพื่อนที่จะได้รักษาสัญญา

ยังไม่ทันได้ตัดสินใจอะไร วงสนทนาก็เริ่มขึ้นด้วยการอธิบายเรื่อง “ความกรุณา” อ.ประมวล ให้ความหมายของ “ความกรุณา” ได้น่าประทับใจยิ่ง ไม่ใช่การอธิบายความตามตัวอักษร แต่เป็นการอธิบายด้วยประสบการณ์ เพื่อให้เราเข้าใจสภาวะจิตของความเป็นมนุษย์ผู้มีจิตกรุณา

อ.ประมวล ยกเหตุการณ์ที่อาจารย์เองก็ตราตรึงอยู่ในความทรงจำ เมื่อครั้งที่อาจารย์ได้พบเห็นหญิงคนหนึ่งแต่งตัวซอมซ่อกระเตงลูกน้อยในอ้อมแขนข้างหนึ่ง เมื่อเธอเดินผ่านกองขยะเน่าเหม็นกลิ่นคละคลุ้งสุดทน เธอใช้มืออีกข้างที่เหลือปิดจมูกทารกน้อย เพื่อบรรเทากลิ่นร้ายแรงนั้น แทนที่จะปิดจมูกตัวเธอเอง

ภาพที่นึกตามคือคำอธิบายของคำว่า “ความกรุณา” ได้ชัดเจนกว่าที่เราท่องจำกันว่า “ความกรุณา” คือการปรารถนาให้คนอื่นพ้นทุกข์ อ.ประมวล ยังบอกว่า ความกรุณาเป็นเหมือนหยดน้ำแห่งความชุ่มเย็น เป็นต้นธารของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่และสั่งสมหลอมรวมกันเป็นสายน้ำลำธารน้อยใหญ่จนกลายเป็นแม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร

ฉันเห็นภาพชัดขึ้นว่า หมู่มวลมนุษย์ที่ดำรงอยู่มาจนถึงนาทีนี้ นี่เป็นเพราะสายธารแห่งความกรุณาเอื้ออาทรต่อกันที่ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ นั่นเอง

ความกรุณา คือการไม่แบ่งแยกตัวเรากับคนอื่น คือสภาวะของความเป็นหนึ่งเดียวดุจแม่กับลูก หลายครั้งเราเห็นแม่ยอมรับผิดแทนลูก แม่ยอมอดแทนลูก อ.ประมวลชี้ให้เห็นว่า สภาวะจิตที่แม่มีต่อลูก คือความกรุณาอย่างเต็มเปี่ยมที่เราสัมผัสได้ เน้นที่ “สภาวะจิต” (หาใช่การกระทำภายนอก) สภาวะจิตแบบที่แม่มักมีต่อลูกนี้จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้

กรณีเด็กติดถ้ำ สภาวะจิตของผู้คนที่ปรารถนาให้เด็กๆ รอดพ้นจากอันตราย ทำให้ใครต่อใครยื่นมือเสียสละเข้าช่วยเหลือโดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา นั่นคือตัวอย่างของความกรุณา

ฉันเกิดคำถามว่า หากเราใช้ความกรุณานำพาการกระทำของเราไปสู่คนอื่นอย่างไร้ขอบเขต มันจะสร้างความอึดอัดคับข้องให้กับคนที่เราไปสัมพันธ์ด้วยหรือไม่ คราวนี้ อ.ประมวล ตอบให้เห็นภาพแจ่มชัดอีกครั้ง อ.ประมวลบอกว่า ให้ลองทำเหมือนแม่ตอนพาลูกน้อยไปโรงเรียนวันแรก ลูกอาจจะร้องไห้คร่ำครวญไม่อยากจากแม่ แม่เองก็อาลัยรักและเห็นใจลูกมาก แต่แล้วแม่ก็ต้องตัดใจส่งลูกให้ครู และไปหลบมุมยืนดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ แม้จะรู้ว่าลูกทุกข์ร้อนหวาดกลัวเพียงใดที่ต้องจากอกแม่ไปอยู่กับคนอื่น แต่เพื่อการเติบโตของลูก แม่ก็ต้องยอมแข็งใจไม่เข้าโผหาลูก อาจจะดูใจร้าย อาจจะเหมือนไม่แคร์ แต่แม่ก็ได้เลือกและทำสิ่งที่คิดว่าจะดีกับลูกที่สุดแล้ว ไว้วางใจครูที่จะดูแลลูก ไปยืนแอบดู เพื่ออยากเห็นว่าลูกคลายความหวาดกลัว และปรับตัวอยู่กับครูได้ไหม …ถึงตรงนี้ผู้ฟังหลายคนน้ำตารื้น คิดถึง “หัวอกแม่”

ฉันฉุกคิดได้ว่าเพื่อนที่กำลังมาขอยืมเงิน ถ้าฉันมีความกรุณาใช้สภาวะจิตแบบที่แม่มีต่อลูก ก็คงโอนเงินให้เธอไปเกือบจะทั้งหมดที่เรามี เพื่อให้เพื่อนหายทุกข์ร้อน แต่ที่ฉันยังไม่ทำ ก็เพราะยังมีความกลัว กังวล หวั่นไหว หากเงินจำนวนนั้น ไม่ได้กลับคืนมา นอกจากเสียเงินแล้ว ก็คงเสียเพื่อนไปด้วยในคราวเดียวกัน

อ.ประมวล ได้พูดถึงสิ่งที่บดบังความกรุณานั่นคือ ความกลัว กังวลกับอนาคตมากเกินไป หากปราศจากเมฆหมอกแห่งความกลัว ผืนฟ้าแห่งความกรุณาก็จะใสกระจ่างแช่มชื่น

[seed_social]
13 เมษายน, 2561

อนุสติจากการตายของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์

มาร์กาเร็ต แธชเชอร์  ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลต่อโลกในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการเป็นสตรีที่ต่อสู้จนประสบความสำเร็จในทางการเมือง
19 เมษายน, 2561

ใจเดียว

ชายหนุ่มเงยหน้าขึ้นหลังอ่านเรื่องราวจบลงด้วยน้ำตาคลอ ทำให้ฉันเริ่มรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในสิ่งที่ทำลงไป “พี่ต้องขอโทษด้วยถ้าเรื่องราวของเอกและเมรวมถึงครอบครัว ที่พี่เขียนทำให้เอกรู้สึกสะเทือนใจ มีเนื้อหาส่วนไหนที่เอกรู้สึกว่ามันไม่ใช่ หรือต้องแก้ไขหรือเปล่า”
17 เมษายน, 2561

เพียงแค่คิด ก็สุขใจแล้ว

ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง จัดเป็นบุคคลที่มีความทุกข์ สิ่งที่ต้องการมากคือ คนที่ให้กำลังใจ เพื่อหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ให้จิตสงบ การเข้าสู่วัด เข้าสู่ธรรมะจึงเป็นทางที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ที่เป็นชาวพุทธ)