parallax background
 

ข้อถกเถียงเรื่องการุณยฆาตในอังกฤษ

ผู้เขียน: นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ เซอร์เอ็ดวาร์ด ดาวนส์ (Sir Edward Downes) วาทยกรเลื่องชื่อชาวอังกฤษพร้อมด้วยภรรยาในวัย ๘๕ ปีและ ๗๔ ปีตามลำดับ ได้ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย เนื่องจากสภาพร่างกายของเขาสูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน ส่วนภรรยาป่วยด้วยโรคมะเร็ง ทั้งสองเลือกใช้บริการของบริษัท Dignitas ซึ่งให้บริการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการจบชีวิตของตนเองลง ตั้งอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากนั้นในเดือนกันยายน ๒๕๕๒ ดาเนียล เจมส์ (Daniel James) นักรักบี้หนุ่มอายุ ๒๓ ปี ที่เคยติดทีมชาติอังกฤษรุ่นอายุต่ำกว่า ๑๖ ปี ประสบอุบัติเหตุระหว่างซ้อมจนทำให้เป็นอัมพาตมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ได้ตัดสินใจเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อใช้บริการของ Dignitas เพื่อจบชีวิตของตนเช่นกัน คาดว่า เจมส์จะเป็นชาวอังกฤษอายุน้อยที่สุดที่เดินทางไปใช้บริการของ Dignitas

นับตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมา มีชาวอังกฤษเดินทางไปฆ่าตัวตายผ่านบริการของ Dignitas ราว ๑๑๕ คน เนื่องจากการกระทำการุณยฆาตในประเทศอังกฤษผิดกฎหมาย มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่ช่วยเหลือให้ผู้อื่นฆ่าตัวตาย โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง ๑๔ ปีสำหรับ แต่ยังไม่ปรากฏว่า ญาติของผู้ที่เดินทางไปฆ่าตัวตายต้องตกเป็นจำเลยในข้อหานี้แต่อย่างใด

พฤติกรรมของบริษัท Dignitas ได้ตกเป็นข้อถกเถียงว่า การกระทำของพวกเขาจะอยู่ในข่ายของการกระทำการุณยฆาตได้หรือไม่ เมื่อไม่นานมานี้ สภาสูงของอังกฤษได้มีการอภิปรายเพื่อการแก้ไขกฎหมายในเรื่องการอนุญาตให้ญาติพี่น้องสามารถช่วยเหลือผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายให้เดินทางออกไปฆ่าตัวตายได้ และได้มีการหยิบยกเอากรณีบริษัท Dignitas มาเป็นตัวอย่าง โดยบางคนเห็นว่า Dignitas ไม่อาจจะเรียกว่าคลินิกได้ เพราะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายแต่อย่างใด ผู้ก่อตั้งบริษัท Dignitas ลุดวิค มิเนลลี่ (Ludwig Minelli) เคยประกาศไว้ว่า ปรารถนาจะช่วยผู้ที่สุขภาพดีและเจ็บป่วยทางจิตใจให้ฆ่าตัวตายได้

ทางการสวิตเซอร์แลนด์วิตกในประเด็นนี้เช่นกัน โดยได้พยายามที่จะออกกฎหมายมาควบคุมเรื่องการุณยฆาต ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้ผู้ป่วยที่ต้องการทำการุณยฆาต ต้องได้รับการยืนยันทางการแพทย์ว่า ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน โดยจะมีการทำประชาติในเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ นางเอฟลีน วิดเมอร์-ชูลัมพฟ์ (Eveline Widmer-Schlumpf) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสวิตเซอร์แลนด์ ได้กล่าวว่า ไม่ต้องการให้ประเทศของเธอมีชื่อเสียงในเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อฆ่าตัวตาย เนื่องมีผู้คนจากทั่วยุโรปเดินทางมาที่สวิตฯ เพื่อรับการช่วยเหลือให้ตายสมใจอยาก ศูนย์ฯ ดังกล่าวได้ช่วยทำให้คนตายไปแล้ว ๘๖๘ คนนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมา เฉพาะในสองปีสุดท้ายมีคนตายด้วยการช่วยเหลือของศูนย์ฯ ถึง ๓๓๕ คน โดยประเทศที่เดินทางมามากที่สุด ๓ อันดับแรกคือ เยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศส

ศาลออสเตรเลียอนุญาตให้ผู้ป่วยอัมพาต งดการรับอาหารเพื่อจบชีวิตตนเองได้

เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ ศาลสูงของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้ระบุว่า ไบร์ท วอเตอร์ แคร์กรุ๊ป (Bright water Care Group) สถานดูแลที่ทำการดูแล คริสเตียน รอสสิเตอร์ (Christian Rossiter) จะไม่มีความผิดทางอาญา หากหยุดให้อาหารและน้ำแก่เขาตามคำร้องขอ เนื่องจาก คริสเตียน รอสสิเตอร์ มีสิทธิในการจะกำหนดแนวทางการรักษาของเขาได้ด้วยตนเอง รอสสิเตอร์ป่วยเป็นอัมพาตจากการถูกรถชนเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว และตั้งใจที่จะปฏิเสธการรักษาดูแลในทุกรูปแบบ เนื่องจากอาการของเขาไม่มีทางรักษาให้ดีขึ้นหรือหายขาดได้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระยะสุดท้าย แต่เขาต้องการจะยุติการมีชีวิตอยู่ของตนเอง “ผม คริสเตียน รอสสิเตอร์ ต้องการจบชีวิตของผมเอง ผมถูกกักขังในร่างกายของตัวเอง ผมขยับไม่ได้ แค่จะเช็ดน้ำตาของตัวเอง ผมยังทำไม่ได้เลย” รอสสิเตอร์มีชีวิตอยู่ด้วยการรับอาหารผ่านสายยางทางหน้าท้องของตัวเอง อย่างไรก็ดีคำพิพากษาของศาลไม่ได้เป็นข้อยุติ รอสสิเตอร์สามารถเปลี่ยนใจได้หากต้องการ

นายแพทย์สก็อต แบล็คเวล (Scott Blackwell) ซึ่งทำงานในเรื่องการดูแลรักษาแบบประคับประคอง ได้เตือนสาธารณชนว่า ไม่ควรจะเข้าใจไปว่ากรณีของรอสสิเตอร์เป็นเรื่องของการุณยฆาต แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิในการปฏิเสธที่จะรับการรักษา “ชาวออสเตรเลียตะวันตกทุกคนมีสิทธิในทางกฎหมายที่จะปฏิเสธการรักษาดูแลทางการแพทย์...ศาลในออสเตรเลียและต่างประเทศได้วินิจฉัยมานานแล้วว่า การให้อาหารโดยเครื่องมือ อย่างเช่น ท่อ-PEG (percutaneous endoscopic gastrostomy tube) เป็นการรักษาทางการแพทย์” คริสเตียน รอสสิเตอร์ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในสถานดูแล (เขาเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากการติดเชื้อในช่องอก) ในเวลาเช้าของวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓

ชายชาวเบลเยี่ยมซึ่งนอนป่วยโคม่ามานาน ๒๓ ปี ฟื้นขึ้นมาได้

รอม อูเบน (Rom Huben) หนุ่มชาวเบลเยี่ยม ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อปี ๒๕๒๖ หลังจากอุบัติเหตุ ๖ เดือน เขาเกิดอาการอัมพาตทั้งตัว ไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงสัญญาณใดๆ ที่บ่งบอกว่ายังมีความรับรู้อยู่ จากการตรวจด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้แพทย์วินิจฉัยว่า เขาอยู่ในสภาพไร้การตอบสนองและเข้าสู่ภาวะผัก รวมไปถึงสมองตาย จนกระทั่งในปี ๒๕๔๙ อูเบนได้รับการตรวจด้วยวิธีการใหม่จาก ดร. สตีเว่น ลอร์เรย์ (Steven Laureys) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Liege ในเบลเยี่ยม ผลการสแกนสมองพบว่าสมองของเขายังทำหน้าที่เกือบเป็นปกติ รับรู้ได้ทุกอย่าง เพียงแต่ไม่สามารถสื่อสารหรือโต้ตอบได้เท่านั้น ซึ่งผลการตรวจนี้สอดคล้องกับความเชื่อของมารดาของเขาที่เชื่อมาตลอดว่า ลูกชายของเธอยังรับรู้ได้อยู่

ปัจจุบันอูเบนสื่อสารผ่านทางจอคอมพิวเตอร์แบบสัมผัสด้วยนิ้วมือนิ้วเดียว และเคลื่อนไหวได้บ้างเล็กน้อย อูเบนบอกว่าเขารู้เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเขา มองเห็นหมอและพยาบาลทุกคนที่เข้ามาดูแล ได้ยินทุกอย่างที่เขาพูดกัน รับรู้ทุกอย่างที่ครอบครัวของเขาเล่าให้ฟัง อูเบนกล่าวถึงตอนที่เขาถูกวินิจฉัยว่าเป็นผักและไม่สามารถสื่อสารได้ว่า “ผมได้แต่ครุ่นคิดไป หรือนึกฝันเฟื่องถึงชีวิตตัวเอง ผมไม่อยากจะกล่าวโทษใคร มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แต่ผมรู้สึกเป็นหนี้ชีวิตต่อครอบครัวของผม ขณะที่คนอื่นๆ หมดหวังไปแล้ว” “ผมได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวผม ว่ามันเป็นเหมือนกับชิ้นส่วนเล็กๆ ของฉากละครแห่งโลก ได้เรียนรู้ถึงนิสัยประหลาดๆ ของคนไข้คนอื่นๆ ในห้องนั่งเล่น ข้อมูลของหมอที่เข้ามาในห้องของผม เรื่องซุบซิบนินทาเกี่ยวกับเพื่อนชายของพวกพยาบาล ที่คุยอย่างไม่อายต่อหน้า “คนที่ไร้ชีวิต” ทั้งหมดนี้ทำให้ผมกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์”

เรื่องของอูเบนทำให้เกิดความรู้ใหม่ว่า คนที่เป็นอัมพาตแบบเต็มรูปแบบยังสามารถรับรู้ได้อย่างเป็นปกติเช่นกัน และยังทำให้เกิดการถกเถียงกันใหม่อีกในเรื่องสิทธิที่จะตาย ว่าคนที่เข้าสู่ภาวะโคม่านั้น ยังคงสติสัมปชัญญะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้จริงหรือไม่

เรียบเรียงจาก
มติชนออนไลน์
www.guardian.co.uk
www.christian.org.uk
www.news.bbc.co.uk
www.lifenews.com
www.timesonline.co.uk
www.meegigg.com
www.abc.net.au
www.news.com.au
www.thewest.com.au
www.dailymail.co.uk

บุคคลสำคัญ:
นพ.สก็อต แบล็คเวล (Scott Blackwell) รอม อูเบน (Rom Huben) ดร.สตีเว่น ลอร์เรย์ (Steven Laureys)

[seed_social]
17 มกราคม, 2561

ความรักของซิเซลี ซอนเดอร์ส(ตอนจบ)

หลังจากซิเซลี ซอนเดอร์ เห็นความจำเป็นที่จะก่อตั้งฮอสพิซแห่งใหม่ เพื่อบริการผู้ป่วยระยะท้ายด้วยวิถีทางที่ค้นพบ เธอจึงเริ่มระดมทุนตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้า ระหว่างระดมทุน ซอนเดอร์สร่างแผนผังฮอสพิซอย่างประณีตไปพร้อมกัน
13 มีนาคม, 2561

ผ่อนพักกาย ผ่อนคลายใจให้สุขสงบ ด้วย Body Scan

หลายคนคงเคยได้ยินคนพูดถึงวิธีการผ่อนคลายในระดับลึก หรือการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบด้วยการทำ Body Scan มาบ้าง แต่บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่ามันคืออะไร จะทำได้อย่างไร และทำแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร 
17 ตุลาคม, 2560

ฉันไม่อยากตายอย่างโดดเดี่ยว

มีคำกล่าวกันว่า สภาพสังคมไทยจะเป็นอย่างไรในอีกสิบหรือยี่สิบข้างหน้า ให้ดูสังคมอเมริกันในเพราะสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ประเทศไทยเดินตามรอยมานานหลายสิบปี