เกี่ยวกับเรา
Peaceful Death
Peaceful Death คือ กลุ่มคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการดูแลการเจ็บป่วย การตาย การบริบาล และความสูญเสีย โดยให้การสนับสนุน ผลักดัน และส่งเสริมระบบนิเวศของการอยู่ดีและตายดี
จุดเริ่มต้นของโครงการฯ
พ.ศ. 2543พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แปลหนังสือเหนือห้วงมหรรณพ และประตูสู่สภาวะใหม่ จากหนังสือคัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต โดยท่านโซเกียล รินโปเช
หลังจากการตีพิมพ์หนังสือทั้งสองเล่ม ผู้อ่านในแวดวงสุขภาพได้ให้ความสนใจต่อความรู้เรื่องการเผชิญความตายอย่างมาก ทั้งในมิติสุขภาพและจิตวิญญาณ อีกทั้งมีความต้องการฝึกฝนเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติในหลักสูตรอบรมอีกทางหนึ่ง
พ.ศ. 2546
เครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับเสมสิกขาลัย จึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติ “เผชิญความตายอย่างสงบ”
พ.ศ. 2547
เครือข่ายพุทธิกา พร้อมทั้งภาคีในระบบบริการสุขภาพ ดำเนินโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ กรณีศึกษาในสังคมไทย ควบคู่ไปกับการผลิตสื่อเรียนรู้ การจัดเวทีสาธารณะ พร้อมกับพัฒนาเครือข่ายแพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไปพร้อมกัน
พ.ศ. 2549
หลังจากพัฒนาและอบรมเผชิญความตายอย่างสงบหลายรุ่น ก็เกิดโครงการ “อาสาข้างเตียง” เพื่อพัฒนาระบบอาสาสมัครดูแลจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาล ตลอดจนเกิดจดหมายข่าวรายสามเดือน “อาทิตย์อัสดง” เพื่อสื่อสารแนวคิดและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในเวลาต่อมา
พ.ศ. 2554
พัฒนาโครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชน ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายอย่างมีส่วนร่วม ด้วยเห็นว่าพระสงฆ์ เป็นสถาบันทางสังคมที่มีต้นทุนสำคัญ และมีศักยภาพในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยด้วยหลักพุทธธรรม อีกทั้งการดูแลผู้ป่วยเองก็เกื้อกูลความก้าวหน้าต่อการปฏิบัติพุทธธรรมด้วยเช่นกัน
พ.ศ. 2555
ให้บริการสายด่วนให้คำปรึกษาทางจิตใจ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย โทร. 086-0022-302 ให้บริการในเวลาทำการ จันทร์ – ศุกร์ 10.00 – 16.00 น. โดยจิตอาสาเครือข่ายพุทธิกา โดยได้รับการสนับสนุนคำปรึกษาจากพระสงฆ์ แพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลภาคี
พ.ศ. 2555
ดำเนินโครงการสื่อสารสร้างความตระหนัก วิถีสู่ความตายอย่างสงบ หรือ “ความตาย พูดได้” เพื่อสื่อสารให้สาธารณะได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมตัวสนทนาพูดคุย ฝึกฝนการวางใจ รับมือกับความตายที่จะมาเยี่ยมเยือนอย่างแน่นอน ผ่านเนื้อหา เครื่องมือ และรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย
โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา ยังคงดำเนินกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มุ่งสร้างระบบสังคมและวัฒนธรรมที่ตื่นรู้ เกื้อกูลความไม่ประมาทในชีวิต และเป็นมิตรกับความตาย
พ.ศ. 2560
โครงการความตาย พูดได้ เครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการเรียนรู้เรื่องชีวิตและความตาย จำนวน 18 องค์กร ร่วมกันจัดงาน Happy Deathady ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 10-11 มิถุนายน 2560 การจัดงานดังกล่าวเป็นหมุดหมายที่ทำให้สังคมไทยเกิดความตระหนักเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างมีนัยสำคัญ
พ.ศ. 2561
โครงการความตาย พูดได้ ได้รับการสนับสนุนจากพุทธิกา ให้ดำเนินงานเป็นกลุ่มอิสระ ในชื่อ Peaceful Death โดยมีพันธกิจสนับสนุนให้สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตายดี
ในปีเดียวกันนี้เองกลุ่ม Peaceful Death ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี จากสำนักงานอกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตายดี นอกจากนี้ยังคงจัดกิจกรรมและรณรงค์ให้การศึกษาด้านการเตรียมตัวตายอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทำหลักสูตรการอบรม การผลิตเนื้อหา และการจัดกิจกรรมสาธารณะที่มีความหลากหลาย