parallax background
 

ชีวิตสอนอะไรเราบ้าง (Life Lesson)

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

ชีวิตสอนอะไรเราบ้าง (Life Lesson)

เอลิซาเบธ คืบเบลอร์-รอสส์ (Elisabeth Kubler-Ross)และเดวิด เคสเลอร์ (David Kessler) เขียน
นุชจรีย์ ชลคุป แปล, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๘)จำนวน ๒๒๓ หน้า


“ระหว่างการเกิดและการตาย คือ ชีวิต” ดูจะเป็นสาระสำคัญที่ผู้เขียนทั้งสองเสนอกับผู้อ่านให้ได้ลองใคร่ครวญดู เอลิซาเบธ คืบเบลอร์-รอสส์ (Elisabeth Kubler-Ross) และเดวิด เคสเลอร์ (David Kessler) เป็นจิตแพทย์และอาจารย์สอนเรื่องความตายและภาวะใกล้ตาย ที่ทำงานกับผู้ป่วยใกล้ตายและผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะเอลิซาเบธถือเป็นผู้ที่บุกเบิกการศึกษาในเรื่องดังกล่าว รวมไปถึงเรื่องการก่อตั้ง Hospice (สถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย) ในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย หนังสือที่เธอเขียนเรื่อง On Death & Dying (ความตายกับภาวะใกล้ตาย) กลายเป็นตำราพื้นฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับคนที่ศึกษาในเรื่องความตายและภาวะใกล้ตาย

ในหนังสือเล่มนี้ ทั้งสองไม่ได้พูดถึงเรื่องที่คุ้ยเคยที่สุด แต่พูดเรื่องของบทเรียนต่างๆ ในชีวิตที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้จากการสัมพันธ์กับผู้ป่วยใกล้ตายหรือคนที่ต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญของชีวิต โดยร้อยเรียงผ่านอารมณ์ความรู้สึก และคุณค่าต่างๆ ที่มีอยู่ในปุถุชนทุกคน

บทเรียนชีวิตทั้งหมดแบ่งย่อยออกเป็น ๑๕ บท ว่าด้วยเรื่องตัวตนที่แท้ ความรัก ความสัมพันธ์ การสูญเสีย อำนาจ ความรู้สึกผิด เวลา ความกลัว ความโกรธ การเล่นสนุก ความอดทน การสยบยอม การให้อภัย ความสุข และบทส่งท้าย แต่ละเรื่องมีความสัมพันธ์ที่โยงใยสลับกันไปมา บทเรียนที่ทั้งคู่เลือกนำมาถ่ายทอดจะสะท้อนให้เราได้เห็นว่า ความเข้าใจและท่าทีที่เรามีต่อเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นสามารถส่งผลต่อชีวิตของเราได้อย่างไรบ้าง เราจะได้อ่านเรื่องราวของแม่ผู้เรียนรู้ที่จะยอมรับลูกอย่างเขาเป็น เด็กชายผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ค้นหาความหมายของการมีชีวิตด้วยการให้ ผู้ป่วยเอดส์ที่ก้าวข้ามความกลัวในตัวเองด้วยการดูแลคนอื่น คู่รักที่เรียนรู้เรื่องการจากลากันอย่างชั่วนิรันดร์

บทเรียนต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ มักจะเชื่อมโยงไปหาสิ่งสำคัญบางประการคือ การยอมรับว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเรา สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว หากเราเรียนรู้ที่จะยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีๆ หรือเรื่องแย่ๆ ที่เกิดกับเรา ยอมรับความไม่สมบูรณ์พร้อมของเรา ใช้ชีวิตอย่างเปี่ยมด้วยความสุขและอิ่มเอมไปกับปัจจุบันขณะ ไม่ยึดติดกับมายาคติที่เราสร้างและสั่งสมขึ้นมาในใจเรา และคนที่อยู่ใกล้กับความตายมากที่สุดมักจะเป็นคนที่มองเห็นความจริงได้ชัดเจนที่สุด ต้องการส่วนเกินในชีวิตทั้งรูปธรรมและนามธรรมน้อยที่สุด

น่าสนใจว่าผู้เขียนทั้งสอง แม้จะไม่ได้พูดถึงหลักการหรือคำสอนพุทธศาสนาในหนังสืออย่างเฉพาะเจาะจง แต่สิ่งที่ทั้งคู่เรียนรู้ผ่านเรื่องราวต่างๆ มีความใกล้เคียงกับหลักการในพุทธศาสนาอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปล่อยวาง การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ต่อต้านและเฝ้าดูมันเป็นไป การยอมรับเรื่องความไม่เที่ยงแท้ของสิ่งต่างๆ และท้ายที่สุด คำถามสำคัญของหนังสือคือ ชีวิตอันเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างการเกิดและการตาย ดูจะหมายถึงการเรียนรู้ผ่านสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตของเรา โดยเราจะสามารถนำบทเรียนเหล่านั้น มาทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ติดค้าง และจบสิ้นลงไปโดยสงบได้หรือไม่เพียงใด

[seed_social]

13 เมษายน, 2561

เมื่อพระจอมเกล้าฯ สวรรคต : การเตรียมตัวตายอย่างสงบแบบไทยๆ

เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด จริงๆ สำหรับเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหว สึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดการระเบิด กัมมันตภาพรังสีรั่วไหล แต่หายนภัยใหญ่หลวงที่เกิดจากธรรมชาติและจากน้ำมือของมนุษย์เองในครั้งนี้ น่าจะช่วยทำให้พวกเราเกิดอนุสติ
19 เมษายน, 2561

DIY Before I die ใคร่ครวญชีวิต พินิจความตายด้วยตัวคุณเอง

หลังจากที่เคยทดลองนำ “กำแพง Before I die” ไปจัดวางไว้กลางห้างสรรพสินค้าระดับประเทศอีกแห่งหนึ่งเมื่อกลางเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จนทำให้โครงการฯ มั่นใจว่า สังคมไทยบางส่วนเริ่มเปิดรับการนำเรื่องความตายมาพูดคุยและเรียนรู้กันในที่สาธารณะได้
17 ตุลาคม, 2560

ฉันไม่อยากตายอย่างโดดเดี่ยว

มีคำกล่าวกันว่า สภาพสังคมไทยจะเป็นอย่างไรในอีกสิบหรือยี่สิบข้างหน้า ให้ดูสังคมอเมริกันในเพราะสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ประเทศไทยเดินตามรอยมานานหลายสิบปี