parallax background
 

มาลองดู...ขอดูใจแม่

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ความตายเป็นเรื่องต้องห้าม ยากจะหยิบยกมาพูดคุยในชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่จึงรับรู้เรื่องความเจ็บป่วยและความตายผ่านนิยายหรือละครหลังข่าว ซึ่งมีไม่น้อยที่แต่งจากความเชื่อที่ส่งต่อกันมา เมื่อนำมาใช้จริงกลับไม่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือบริบทของครอบครัวนั้นๆ

ละครแทรกสดคือละครสดที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมาเป็นผู้เล่นละคร และเปลี่ยนแปลงเรื่องราวได้ตามใจนึกคิด ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของแต่ละคน จึงสร้างความรู้สึกร่วมและการเรียนรู้ให้กับผู้ชมละครได้ดียิ่ง

ม้าไม่กิน! ม้าอยากตาย!” ผู้เป็นแม่ร้องปฏิเสธอาหารสุขภาพของ “อุ้ม” บุตรสาวที่ทำหน้าที่หลักในการดูแลมารดาที่ป่วยเรื้อรังอย่างห่วงใยและเคร่งครัดจนเธอแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเอง สามีและลูก แต่พลันที่ “เจ๊แดง” ลูกสาวคนโตที่อยู่ต่างบ้านมาเยี่ยม ผู้เป็นแม่กลับยิ้มแย้มยินดีอย่างออกนอกหน้า เข้าทำนอง “รักคนไกล เบื่อคนใกล้” ....ฉากเปิดละครแทรกสดเรื่อง “ขอดูใจแม่”

ตัดไปที่ฉากสุดท้าย...

ทำไมม้าเป็นอย่างนี้? ม้าเคยสั่งไม่ให้ใส่ท่อนะ! ใครเป็นคนสั่งให้ทำอย่างนี้? หมออยู่ไหน? หมอต้องรับผิดชอบ!” หมวยเล็กกรีดเสียงร้องลั่น เธอเป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัวที่บินตรงมาจากอเมริกาเพื่อ “ดูใจแม่” แต่กลับพบผู้เป็นแม่นอนถูกสวมท่อช่วยหายใจ ไม่สามารถสื่อสารสั่งลาได้ เมื่อเธอไปเจรจากับแพทย์เจ้าของไข้ กลับได้รับคำตอบว่า “หมอทำตามขั้นตอน มีการเซ็นใบยินยอมแล้ว”

ละครแต่ละฉากเต็มไปด้วยเรื่องราวใกล้ตัวและกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดของผู้ดูนับร้อยคนยิ่งนัก ทั้งเรื่องของ “อุ้ม” ลูกสาวที่แบกรับภาระดูแลแม่ที่เจ็บป่วยและนำมาสู่ปัญหาครอบครัว “เจ๊แดง” พี่สาวผู้ทรงอิทธิพลที่เรียกร้องให้ทุกคนทำตามความเชื่อและความต้องการของตัวเอง นำไปสู่การใส่ท่อช่วยหายใจซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ที่ผู้เป็นแม่เคยบอกไว้ขณะยังมีสติสัมปชัญญะ พ่อที่แยกไปมีครอบครัวใหม่และต้องมารับรู้ความเจ็บป่วยของอดีตภรรยาและเตือนสติลูกๆ เห็นแก่ความสงบสุขของมารดา หมอเจ้าของไข้ที่ต้องการใบยินยอมการรักษาเพื่อจะปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาอย่างถึงที่สุด ท้ายที่สุดคือความไม่พอใจของ “หมวยเล็ก” ลูกสาวคนเล็กที่มิอาจทนเห็นสภาพ “ตายทั้งเป็น” ของผู้เป็นแม่ นำไปสู่ความขัดแย้งกับแพทย์เจ้าของไข้ที่ยืนยันความถูกต้องตามกระบวนการรักษาพยาบาล

...ทุกฉากดูสมจริงเพราะเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของเหล่านักแสดงนับสิบชีวิต

ละครแทรกสด...จากผู้ชมเป็นผู้แสดง

ขอดูใจแม่” จัดทำโดยคณะละคร “มาร็องดู” ที่มาจากคำว่า “มาลองดู” โดยใช้รูปแบบละครแทรกสด ซึ่งเป็นละครเวทีรูปแบบใหม่ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชม “ลองขบคิด” แก้ไขปัญหาที่นำเสนอในละครหรือลุกขึ้นมา “ลองเล่น” กับนักแสดงในละครซึ่งหยิบยกปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยของเรามา “ลองแก้ไข” เพื่อที่ผู้ชมจะได้เกิดความตระหนักรู้ว่าความคิดของเขาสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงมากน้อยแค่ไหน

กล่าวอีกนัยหนึ่งละครเรื่องนี้ตั้งใจกระตุ้นให้ผู้ชมเป็น “นักทำผู้มีความคิด” แทนการเป็น “นักคิดผู้ทำไม่เป็น

จุดเด่นของละครแทรกสดคือการเปลี่ยนให้ผู้ชมเป็นผู้แสดง โดยในรอบแรกจะแสดงละครทั้งเรื่องรวดเดียวจบ จากนั้นแสดงซ้ำอีกครั้ง โดยตัดการแสดงออกเป็นฉากสั้นๆ หากผู้ชมรายใดอยากมีส่วนร่วมก็ยกมือขึ้น ก้าวมาบนเวที แล้วแสดงบทบาทที่ตนเองเป็นผู้เขียนบท เมื่อแสดงจบมีการพูดคุยซักถามความรู้สึกต่อบทบาทที่เปลี่ยนไปจากนักแสดงคนอื่นและผู้ชมว่าชอบหรือไม่ หรือจะได้ผลหรือไม่ เพราะเหตุใด

เรื่องราวที่เปลี่ยนไปจึงสดใหม่ สร้างมุมมองใหม่ และการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้ผู้ชมได้เป็นอย่างดี

ในฉากสุดท้ายขณะที่หมอกับญาติคนไข้กำลังถกเถียงกัน ผู้ชมหญิงร่างเล็กท่าทางคล่องแคล่วยกมือขึ้นและก้าวขึ้นมาบนเวที เธอขอเล่นบทบาทหมอที่ให้ข้อมูลและทางเลือกแก่ญาติคนไข้ โดยพูดถึง “การปลดล็อค” ในสิ่งที่ทำไปแล้ว

คนส่วนใหญ่คิดว่าใส่ท่อแล้วเอาออกไม่ได้ แต่สามารถเอาออกได้ ไม่ทรมาน ไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดหลักจริยธรรมทางการแพทย์ ส่วนใหญ่หมอและพยาบาลจะไม่กระโดดเข้ามาตัดสินใจให้เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เราทำได้โดยการประชุมครอบครัว เมื่อหาจุดประสงค์ร่วมกันได้ว่าต้องการให้คนไข้จากไปอย่างสงบ แพทย์ก็สามารถทำได้โดยการรักษาแบบประคับประคอง ถอดท่อช่วยหายใจ และใช้ยาช่วยให้คนไข้จากไปอย่างไม่ทรมาน” เธอเล่นบทบาทหมออย่างคล่องแคล่วน่าเชื่อถือ เพราะเธอคือแพทย์หญิงฉันทนา หมอกเจริญพงศ์ จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผู้ผ่านประสบการณ์ให้คำแนะนำและดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมาอย่างโชกโชน

ดูละครแล้วย้อนดูตน

ลูกสาวพามา ดูแล้วโอเค รู้สึกประทับใจมาก ผมเป็นโรคไต ฟอกไตอยู่ เพิ่งฟอกไตเสร็จแล้วมาเลย วางแผนชีวิตหลังจากนี้ว่าทำใจให้สบาย เกิดแก่เจ็บตายเป็นของธรรมดา ไม่อยากให้ใส่ท่อ ถ้าจะดับก็ให้ดับไปเลย ทรมานนิดหน่อย ใส่ท่อผมว่ามันจะเจ็บกว่า” วิเชียร โชติบริบูรณ์ ชายสูงวัยผู้นั่งรถเข็นมาพร้อมกับลูกสาวและดูละครอย่างตั้งใจตั้งแต่ต้นจนจบกล่าว

ส่วนสินี โชติบริบูรณ์ บุตรสาวเล่าว่าเหตุการณ์ในละครหลายเหตุการณ์ตรงกับตัวเธอ เธอเป็นผู้ดูแลพ่อที่เป็นคนต่างจังหวัดแล้วมารักษาตัวและอยู่ประจำที่กรุงเทพ เหมือนอุ้มทำหน้าที่ดูแลแม่

ดูละครแล้วก็เห็นว่าสามารถใช้แก้ปัญหาเราได้ เราอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดในการดูแล หรืออาจให้คนอื่นมาช่วยรับมือ...เหมือนอุ้ม” สินีกล่าว

“เคยเข้าใจว่าใส่ท่อแล้วทรมาน ใส่แล้วถอดไม่ได้ มาวันนี้ก็เข้าใจว่าอาจมีความจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจเหมือนในละคร และเมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะใส่ต่อหรือไม่ หมอก็มีทางออกให้ ทำให้เราเคลียร์มากขึ้น ไม่งั้นเราก็จะติดอยู่แค่ว่าไม่ให้ใส่ท่อ เราก็จะไม่ยืดหยุ่น หรือกลายเป็นความรู้สึกไม่ดีหากต้องใส่ท่อ”

หากละครเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อให้ผู้ชมได้ขบคิดและเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยและความตาย ก็นับว่าบรรลุเป้าหมายอย่างดงาม และการเรียนรู้ผ่านละครแทรกสดที่มีผู้คนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาสวมบทบาทตัวละครด้วยความคิดและมุมมองตามบริบทชีวิตของตนเองและเป็นประสบการณ์ตรงที่ “จริง” และ “สดใหม่” นับเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างยิ่งในการสร้างชุมชนแห่งเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและความตาย

หมายเหตุ : “ขอดูใจแม่” เป็นทำงานร่วมกันระหว่างคณะละครมาร็องดู มูลนิธิสหธรรมิกชน และ กลุ่มอาสาสมัคร I SEE U Contemplative Care จัดแสดงในงาน ในงาน I SEE U Comtemplative Care Day #1 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561

------------------------------------------- [seed_social]
10 มกราคม, 2561

วันที่กายติดเตียง

ชัยพร นำประทีป หรือที่แฟนเพลงจำนวนหนึ่งรู้จักดีในนามของ เอี้ยว ณ ปานนั้น เป็นนักดนตรีเปิดหมวกผู้มีชื่อเสียงคนแรกๆ ของประเทศไทย เมื่อ ๓ ปีก่อน เขาเกิดอุบัติเหตุจากการตกบันได ทำให้ได้รับบาดเจ็บหนักที่สุดในชีวิต
28 พฤศจิกายน, 2560

ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่เรากลัวของคนในสังคมปัจจุบัน คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆ คือความเหงา ไร้คุณค่า
13 ธันวาคม, 2560

ชีวิตหลังความตาย

ผู้เขียนยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของตนเอง แต่เมื่อมีความตายเกิดขึ้น ก็ย่อมมีทั้งคนที่จากไปและคนที่อยู่ข้างหลัง วันนี้จะพูดถึงคนที่อยู่ข้างหลังกัน