ผู้เขียน: พรรัตน์ วชิราชัย | มกราคม 2568
เมื่อมีคนพูดถึงการดูแลแบบประคับประคอง เราอาจคิดถึงความหมายที่เป็นการดูแลระยะท้ายของชีวิตไม่ให้เจ็บปวด ทรมาน หรือยื้อชีวิตมากเกินไป แต่เมื่อมองสิ่งนี้ในมุมมองของสิทธิในระบบสุขภาพ เรามักนึกถึงมันในฐานะที่เป็นหนึ่งในนโยบายของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิอยู่ถึง 47.5 ล้านคน (ร้อยละ 70.5) ทำให้หลายครั้งอาจลืมนึกไปว่ามีประชากร 12.8 ล้านคน (ร้อยละ 19) ที่ใช้สิทธิประกันสังคม และ 5.3 ล้านคน (ร้อยละ 7.9) ที่สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ว่าพวกเขาเข้าถึงสิทธิในการดูแลแบบประคับประคองหรือไม่ อย่างไรบ้าง
บทความชิ้นนี้จึงขอพูดถึงผู้ใช้สิทธิประกันสังคมกับการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งอาจไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนน้อยและคนส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มวัยแรงงาน จุงทำให้คนหลงเข้าใจว่ายังอายุน้อย เรื่องความตายเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งๆ ที่ความจริงคนที่อยู่ในสิทธิประกันสังคมนั้นมีทุกช่วงอายุ และทุกคนไม่ว่าอยู่ในวัยใดก็ต้องเผชิญความตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
จากรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทย (2567) พบว่า 3 กองทุนที่คนไทยทุกคนใช้บริการอยู่นั้น แต่ละกองทุนมีระบบการเงินการคลัง แหล่งงบประมาณ วิธีบริหารงบประมาณ การร่วมจ่ายเมื่อใช้บริการ ไปจนถึงวิธีการจัดสรรค่าบริการที่แตกต่างกัน ทำให้มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิการรักษาเป็นอย่างมาก เช่น ผู้ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีรายจ่ายสุขภาพต่อคนต่อ 3.7 เท่าของสิทธิบัตรทอง, ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการมาใช้สิทธิสำหรับบริการผู้ป่วยนอกสูงกว่าอีกสองสิทธิ, ผู้ใช้สิทธิบัตรทองและประกันสังคมมักเลือกไม่ไปโรงพยาบาล เนื่องจาก รอนาน เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย และไม่สะดวกไปในเวลาทำการ (สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP), 2567)
เมื่อเปรียบเทียบ 3 กองทุนต่อ โดยพิจารณาะเฉพาะชุดสิทธิสำหรับการดูแลแบบประคับประคอง พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน (2566) พบว่า สิทธิสวัสดิการข้าราชการและสิทธิประกันสังคมมีสิทธิด้านการรักษาที่ดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาล แต่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองที่ครอบคลุมทั้งในโรงพยาบาล ชุมชน และที่บ้าน
อย่างไรก็ดี จากประกาศคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 (ข่าวประชาสัมพันธ์, 08 พฤศจิกายน 2566) มีมติให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการและบริหารจัดการกองทุนฯเพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ส่งผลให้ประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการนั้นได้รับสิทธิการดูแลระยะท้ายในชุมชนด้วย


อย่างไรก็ดี แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวมามากกว่าหนึ่งปี แต่กลับไม่เป็นที่รับรู้และไม่มีกลไกการทำงานที่ชัดเจนมากนัก

จากการที่ผู้เขียนได้จัดทำรายงานศึกษาเบื้องต้นเรื่อง “สถานการณ์การขับเคลื่อนและทางเลือกนโยบายการดูแลแบบประคับประคองของผู้ป่วยและครอบครัวในกองทุนประกันสังคม” ซึ่งได้ทำแบบสำรวจกับผู้ป่วยและผู้ดูแลที่ต้องการการดูแลระยะยาว/การดูแลแบบประคับประคองและใช้สิทธิประกันสังคมพบว่า ผู้ป่วยและผู้ดูแลฯ ร้อยละ 84 เข้าไม่ถึงสิทธิ เนื่องจากไม่มีความรู้และไม่ได้รับคำแนะนำเรื่องนี้จากแพทย์ประจำตัว ด้านผู้ป่วยและผู้ดูแลฯ ที่ได้รับสิทธิคือผู้ที่มีความรู้และเรียกร้องการรักษาในแนวทางการดูแลประคับประคอง ผู้ป่วยและผู้ดูแลฯ ยังขาดความรู้และเข้าไม่ถึงชุดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของประกันสังคม เช่น เงินทดแทนในกรณีว่างงานหรือกรณีทุพพลภาพ ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลฯ ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจที่จะเสียชีวิตที่บ้าน เนื่องจากเป็นครอบครัวเดี่ยว อีกทั้งยังไม่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการดูแลประคับประคอง ด้านโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลเอกชน ไม่มีความรู้ชุดนี้ ไม่มีหน่วยดูแลประคับประคอง ไม่มีอัตรากำลังมากเพียงพอในการดูแลผู้ป่วย และตัวแทนจากบุคคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนสะท้อนว่าไม่อาจเชื่อมโยงกับองค์กรส่วนท้องถิ่นได้ เนื่องจากโครงสร้างการทำงานที่ตัดขาดออกจากกัน
ด้านคณะกรรมการหรืออนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ประกันสังคมได้สะท้อนอุปสรรคสำคัญในการผลักดันประเด็นนี้ว่ามา แนวคิดเรื่องการดูแลประคับประคองยังไม่เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มคณะกรรมการชุดต่างๆ ของประกันสังคมมากนัก และ โครงสร้างการตัดสินใจเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมการการแพทย์ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวถูกแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ทำให้ไม่ค่อยได้ยินเสียงและเข้าใจสถานการณ์ของผู้ป่วยซึ่งเป็นตัวแทนลูกจ้าง
รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้ ประชาชนที่อยู่ในสิทธิประกันสังคม และองค์กรทั้งประชาสังคมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการดูแลประคับประคอง และสิทธิประกันสังคม อีกทั้งเสนอให้แก้ไขในระดับโครงสร้าง โดยแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติประกันสังคมเพื่อเพิ่มสิทธิและเสียงของผู้ประกันตนให้มีมากขึ้น โดยระหว่างนี้ควรผลักดันประเด็นการดูแลระยะท้ายภายใต้โครงสร้างกฎหมายปัจจุบันคู่ขนานไป
สถานการณ์ปัจจุบันจึงเรียกได้ว่า ชาวประกันสังคมมีสิทธิเพิ่มในด้านการดูแลประคับประคองในชุมชน แต่กลไกในการเข้าถึงสิทธิยังคงสับสนงุนงงอยู่ ความรู้และความเข้าใจต่อเรื่องสิทธิทั้งสิทธิประกันสังคมและสิทธิในการดูแลลแบบประคับประคองจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เราทุกคนจึงควรทำสมุดเบาใจ แจ้งครอบครัว และนำประเด็นดังกล่าวไปปรึกษากับแพทย์ประจำตัว หากยังเข้าไม่ถึงสิทธิสามารถปรึกษาสายด่วนประกันสังคม 1506 หรือ สายด่วน สปสช. 1330
อ้างอิง
พรรัตน์ วชิราชัย. 2567. รายงานศึกษาเบื้องต้น สถานการณ์การขับเคลื่อนและทางเลือกนโยบายการดูแลแบบประคับประคองของผู้ป่วยและครอบครัวในกองทุนประกันสังคม. https://drive.google.com/open?id=1n5Z1yDMACAYoOp7ISWZ2CvXxQc3mqvf9&usp=drive_fs
สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP), 2567. รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทย : นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำใน 11 กันยายน 2567.
พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน, 2566. การดูแลแบบประคับประคอง กับสิทธิการรักษาพยาบาล 3 กองทุน และประกันสุขภาพภาคเอกชน, นิตยสารสานพลัง ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 หน้า 42-43 . สืบค้นจาก https://www.nationalhealth.or.th/sites/default/files/upload_files/sanpa149resize.pdf
ข่าวประชาสัมพันธ์, 08 พฤศจิกายน 2566. ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567. สืบค้นจาก https://www.nhso.go.th/news/4225