parallax background
 

เเกื้อจิตร แขรัมย์...พยาบาลด้วยหัวใจ

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

คุณเคยได้ยินคำว่าการรักษาด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ไหม คำสวยๆ คำนี้วงการสาธารณสุขนำมาใช้บ่อย แต่ยากแก่การปฏิบัติและสัมผัสได้ ยากเสียจนบางคนบอกว่าเป็นคำในอุดมคติ

จนกระทั่งเมื่อมาพบกับตัวจริงและเรื่องเล่าของเกื้อจิตร แขรัมย์ ในงานเปิดตัวหนังสือ “พยาบาลผ่าทางตัน” ฉันจึงพบว่านี่คือรูปธรรมของการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจที่ชัดเจนและน่าชื่นชม หากฉันเจ็บป่วยระยะสุดท้ายก็อยากให้มีพยาบาลอย่างเธอช่วยดูแล เพื่อจะได้จากโลกนี้ไปอย่างไม่ติดค้างใดๆ

- - - - - - - - - -

“ถ้าเป็นนางพยาบาลอย่าไปด่าใครนะลูก”

หากไม่ได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับความตายมาตั้งแต่วัยเด็ก ก็อาจไม่มีพยาบาลชื่อเกื้อจิตรในวันนี้ เริ่มจากความตายของน้าสาวที่รักยิ่ง พี่สาวที่ป่วยเป็นมะเร็งกระดูกตั้งแต่วัยสาว แม้ผู้เป็นพ่อทุ่มเทขายที่ดินนับร้อยไร่เพื่อให้ลูก “อยู่ใกล้หมอ” แต่ผู้เป็นพี่กลับร่ำร้องขอกลับบ้าน “ให้หนูกลับบ้าน ได้เห็นบ้านสักครั้ง หนูคิดถึงน้อง คิดถึงตายาย” เมื่อพี่สาวได้กลับบ้านและจากไปอย่างสงบ เธอจึงเห็นว่าความตายไม่น่ากลัวเลย

ต่อมาผู้เป็นพ่อป่วยหนักและไปโรงพยาบาล พยาบาลพูดเสียงแข็งว่า “ลุงไม่รู้หรือว่าเสาร์อาทิตย์ กลับบ้านไป!” ผู้เป็นพ่อพาร่างกายและหัวใจที่ปวดร้าวกลับบ้าน และบอกเธอว่า “เรียนหนังสือให้เก่งๆ นะลูก ให้เป็นนางพยาบาล ถ้าได้เป็นอย่าไปด่าเขานะลูก จะรวยจะจนก็มีหัวใจ”

ความตายของคนใกล้ตัวและคำสั่งเสียของผู้เป็นพ่อคือแรงบันดาลใจให้เธอเลือกเส้นทางอาชีพพยาบาล และเป็นพยาบาลด้วยหัวใจจนถึงปัจจุบัน

เมื่อป่วยเองจึงเข้าใจ

“ไม่ป่วยเองไม่รู้หรอก” เป็นคำกล่าวที่ผู้ป่วยมักโต้แย้งทั้งออกเสียงหรือในใจ เมื่อหมอหรือพยาบาลสั่งให้ทำหรือห้ามทำสิ่งใด

เพราะเคยป่วยจึงเข้าใจคนป่วยเหมือน “เข้าไปอยู่ในใจ” เกื้อจิตรเคยเป็นผู้ป่วยมาแล้วหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเธอปวดหลังถึงขั้นเดินไม่ได้ เมื่อเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอพบว่ากระดูกสันหลังเป็นสีดำ หมอบอกว่าต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระดูก พร้อมเตือนด้วยความหวังดีว่า “พี่อย่าเดินทางนะ เพราะถ้ามันทรุดไปกดเส้นประสาท พี่จะเป็นอัมพาตนะ”

“คนเราป่วยเพราะความคิด คิดฟุ้งๆๆๆ ถ้าเราเป็นอัมพาต แม่เราจะอยู่อย่างไง ลูกชายคนเดียวจะดูแลเรามั้ย รู้เลยว่ายิ่งกดความคิด ความคิดก็ยิ่งดัน กดดันจนต้องฝึกเจริญสติกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ จึงหายคิด”

ต่อมาเกื้อจิตรเข้ารับการผ่าตัดก้อนเนื้อในมดลูก หมอคนหนึ่งมาเยี่ยมมือเปล่าโดยเดินมายืนปลายเตียงจับเท้าเธอ “ป้าไม่เป็นไรหรอก เป็นได้ก็หายได้ รักษาได้ง่ายนิดเดียว แป๊บเดียวก็หาย”...เธอรู้สึกดีกับคำพูดนี้

อีกสักพักหมอคนหนึ่งนำกระเช้าใบใหญ่มาเยี่ยม แล้วพูดว่า “เป็นไง ทีตัวเองบ้าง” เธอรู้สึกหดหู่ใจและกังวล เพราะคิดต่อไปว่า “หมอรู้เรื่องอะไรมารึเปล่า รึว่าเราเป็นมะเร็ง”

เธอได้เรียนรู้ว่าคนไข้จะรับรู้และรู้สึกกับการแสดงออกทุกอย่างของแพทย์พยาบาล ไม่ว่าจะเป็นท่าทางหรือคำพูด และมักตีความและเพิ่มระดับความร้ายแรงเกินกว่าปกติเสมอ

“เวลาป่วย เรารู้เลยว่าคำพูดไหนควรพูดและไม่ควรพูดกับคนไข้ เช่นคำว่า “ระยะสุดท้าย” เรื่องจริงแกมตลกคือหมอบอกคนไข้มะเร็งเต้านมว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มีเวลาอีกหกเดือน และบอกคนไข้มะเร็งตับว่าเป็นมะเร็งระยะสี่ คนไข้มะเร็งตับมาพูดกับเราว่าโชคดีที่ฉันเป็นมะเร็งระยะสี่ ยายนั่นเป็นระยะสุดท้าย (หัวเราะ) คนเป็นมะเร็งตับระยะสี่หน้าตาสดชื่นเบิกบาน ส่วนคนเป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายที่เคยเดินได้กินได้กลับสิ้นหวัง นอนนิ่งๆ ไม่ทำอะไรเลย”

ทำไมการดูแลใจจึงสำคัญ

ความเจ็บป่วยระยะท้ายมักมาพร้อมกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองในปัจจุบันก็มุ่งเน้นไปที่การฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่จัดการความเจ็บปวด เช่น การใช้ยาระงับปวดแบบต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องทางกาย ขณะที่เกื้อจิตรมองว่าการดูแลด้านจิตใจสำคัญกว่า บ่อยครั้งที่การปลดเปลื้องเรื่องค้างคาใจทำให้อาการทางกายบรรเทาลง

“ถ้าเรารู้ว่าใจส่งผลกับกายอย่างไง ใจส่งผลต่อระบบหัวใจ เส้นเลือด ภูมิต้านทาน กล้ามเนื้ออย่างไร เราจะดูแลคนไข้ได้ดีมาก ถ้าเราจัดการใจได้ กายจะสบายไปด้วย” เธอกล่าว “กายคือธาตุสี่ ตายแล้วเผาทิ้ง แต่จิตที่จะเดินทางต่อได้ดูแลหรือยัง ถ้าไม่ดูแลเสียโอกาส ชีวิตนี้สั้นนัก ชีวิตนี้น้อยนักแต่สำคัญมาก สำคัญมากที่จะไปเปลี่ยนภพภูมิ จะเดินทางไปสู่สุขคติหรือทุขคติ เราเลือกได้ โดยเฉพาะตอนใกล้ตาย”

จากเรื่องเล่าของเกื้อจิตรทั้งบนเวทีเปิดตัวหนังสือและในหนังสือสรุปได้ว่าในผู้ป่วยระยะสุดท้าย การดูแลร่างกาย ต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลจิตใจ และการดูแลจิตใจที่สำคัญที่สุดคือการโน้มนำให้ผู้ป่วยอโหสิกรรมผ่านทานศีลภาวนา

“หลวงพ่อคำเขียนสอนว่าอย่าให้ตายอย่างอนาถานะ ให้ตายแบบทานศีลภาวนา แม้มีเวลาเพียงแค่ 5 นาทีก่อนตาย ก็ขอให้เป็นห้านาทีทองที่จะอยู่กับทาน ทานที่สำคัญที่สุดใกล้ตายคืออภัยทาน ทำทานให้กับตัวเอง บางคนโทษตัวเองยังทำไม่ดี ทำไม่สุด ยังเป็นลูกไม่ดี มาตายจากพ่อแม่เร็วเกินไป แต่ทุกอย่างทำดีที่สุดแล้ว

“ภาวนาทำได้ด้วยการสวดมนต์หรือหายใจเข้าออกยาวๆ จิตเป็นสมาธิจะช่วยปรับสมดุลร่างกายจิตใจ ตอบสนองการรักษา แต่ถ้าถึงระยะสุดท้ายจริงๆ ก็ยอมรับ และละโรคนี้ไปด้วยจิตใจที่ยอมรับ ก็เป็นสุขคติ” เกื้อจิตรกล่าว

ถ่ายทอดประสบการณ์ “ดูแลด้วยหัวใจ”

แม้จะเป็นพยาบาลแผนกกระดูกซึ่งไม่ค่อยมีผู้ป่วยร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ความสามารถเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของทั้งผู้ป่วยและญาติ และสามารถสื่อสารสิ่งเหล่านั้นกับคนทุกเพศวัยและฐานะได้อย่างมีลูกล่อลูกชนและมีอารมณ์ขัน เกื้อจิตรจึงถูกวางตัวจากเพื่อนร่วมงานในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ให้ปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้ป่วยและญาติอยู่เสมอ เธอก็มักใช้ทักษะการดูแลด้วยหัวใจจัดการให้ผ่านพ้นไปได้แทบทุกครั้ง

ในหนังสือ “พยาบาลผ่าทางตัน” ประกอบด้วยเรื่องเล่าประสบการณ์การดูแลและรับมือผู้ป่วยและญาติถึง 24 เรื่อง แต่ละเรื่องฉายภาพความเป็นมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยความรักความห่วงใยต่อคนที่ตนเองรัก ไม่ว่าจะเป็นลูกๆ ที่อยากให้พ่อแม่ที่แก่เฒ่ามีอายุเกินร้อยปี จึงยื้อยุดฉุดชีวิตพ่อแม่เต็มกำลัง คนไข้ที่เต็มไปด้วยความโกรธลูกผัวที่ไม่ได้ดังใจ ญาติที่ต้องการฟ้องร้องเพราะคิดว่าหมอทำพ่อตัวเองตาย ซึ่งความขัดแย้งเหล่านี้สามารถคลี่คลายได้ด้วยการเข้าใจหัวใจความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย

ทักษะการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ของเกื้อจิตรไม่ได้จำกัดวงอยู่ในโรงพยาบาลบุรีรัมย์เท่านั้น ย้อนกลับไปเมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว เมื่อหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ แห่งวัดป่าสุคะโตชักชวนให้เธอสอนการดูแลจิตใจเพื่อให้ตายสงบ เนื่องด้วยเห็นว่าคนพุทธปัจจุบันตายอย่างอนาถาคือตายกับเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ และตายด้วยความตื่นตระหนกวิตกกังวล เธอก็เริ่มงานเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มโครงการการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (End of Life) และโครงการสร้างจิตอาสาดูแลผู้ป่วยของกลุ่มไอซียูมานับสิบปี

ทุกวันนี้เมื่อก้าวสู่วัยเกษียณ ภาระหน้าที่ในโรงพยาบาลจบสิ้นลง ภารกิจสำคัญในการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงอันทรงคุณค่านี้จะเข้มข้นขึ้น เนื่องด้วยไม่มีภาระหน้าที่และเวลาทางราชการมากำหนด

* หนังสือ ”พยาบาลผ่าทางตัน” จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดยโครงการบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล ชุมชน ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย (I SEE U) Facebook: I SEE U Contemplative Care

[seed_social]
24 มกราคม, 2561

มรดกจากพ่อ

หลังจากที่พ่อผมตาย ผมไม่เคยรู้ว่าพ่อได้ทิ้งมรดกอันมีค่าไว้ให้ หลังจากที่ผมค้นพบ มันทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนไป
5 เมษายน, 2561

วิธีปฏิบัติเพื่อประคองจิตในช่วงวิกฤติของชีวิตจะทำอย่างไร

ผู้ใหญ่สามารถฝึกโดยอาศัยสมาธิได้ เช่น กำหนดจิตอยู่ที่พระพุทธรูป ตามลมหายใจ เปิดเพลง เทปทำวัตร สวดมนต์ มีบรรยากาศที่สงบ
20 เมษายน, 2561

วันปีใหม่

ช่วงเวลาของปีใหม่ เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองของคนส่วนมากทั้งโลก เป็นช่วงเวลาแห่งรอยยิ้ม ความสุขและหยุดพักจากการงาน แต่สำหรับงานรักษาพยาบาลนั้นเรื่องราวของคนไข้และผู้ดูแลนั้นไม่มีคำว่าหยุดพัก