parallax background
 

หนึ่งวัน ฉัน และ I See U

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

รถยนต์เจ็ดประตู อาสาสมัครห้าคน และของเยี่ยมจำนวนหนึ่ง มุ่งหน้าไปโรงพยาบาลราชบุรี ที่ซึ่งกลุ่ม I See U จะไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้าย และผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลืออื่นๆ ตลอดวันนี้

อาคารหลังใหญ่ของโรงพยาบาลราชบุรีปรากฏขึ้นหลังจากรถยนต์แล่นผ่านหอนาฬิกาประจำจังหวัด ที่นั่นมีผู้ป่วยจำนวนมากรอรับการตรวจ บางส่วนล้นออกมานอกที่นั่งรอพบแพทย์จนถึงทางเดิน เราผ่านห้องเจาะเลือดเกือบสิบห้องระหว่างเดินไปหอผู้ป่วยเด็ก บรรยากาศรอบบริเวณดูเครียดขึ้ง จนกระทั่งเราได้เจอพี่พิณ- วรัชทยา อินภมร พยาบาลวิชาชีพหัวหน้าหน่วยดูแลแบบประคับประคองที่มาต้อนรับกลุ่มอาสาสมัคร I See U ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เธอพาพวกเราเข้าไปในห้องประชุมเล็กๆ ห้องหนึ่งที่สงบเงียบเย็นสบาย

“เป็นอย่างไรบ้างครับ วันนี้อนุญาตให้บ่นได้เต็มที่เลย” พี่ชัย อรุณชัย นิติสุพรรัตน์ ผู้ประสานงานกลุ่ม I See U เอ่ยถามพยาบาลด้วยเสียงอ่อนโยน บรรยากาศในห้องเปิดกว้าง พร้อมรับฟังทุกเรื่องราว พี่พิณเอ่ยถึงภาระงานที่มากล้นเพิ่มพูนในช่วงนี้ แต่ก็ดีใจที่วันนี้มีอาสามาเยี่ยมผู้ป่วยตลอดวัน เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการรับฟัง และพยาบาลได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากบทสนทนาระหว่างอาสาและผู้ป่วย เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเฉพาะกรณี

เมื่อพยาบาลกล่าวต้อนรับเสร็จ ก็พูดถึงคนไข้ที่ต้องการได้รับการเยี่ยมในวันนี้ แต่ก่อนที่การเยี่ยมจะเริ่มต้น อาสาสมัครต้องผ่านกิจกรรมเตรียมความพร้อมเสียก่อนด้วยการ “เช็คอิน” และการภาวนา

เช็คอิน

การเช็คอิน คือการสำรวจความพร้อมของอาสา ด้วยการเชื้อเชิญเนื้อตัวร่างกายมาอยู่กับปัจจุบัน ผู้นำการเยี่ยมอาจพาอาสาสมัครเช็คอินด้วยการถามว่า เช้านี้เป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ขณะนี้รู้สึกอย่างไร สำหรับสมาชิกใหม่ อาจแนะนำตัวสั้นๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย เมื่อเช็คอินครบรอบวงแล้วจึงทำความสงบ

พี่ชัยเชิญชวนอาสาและพยาบาลหลับตา ปลุกประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ให้ตื่นตัวขึ้น ให้สังเกตเสียงที่ได้ยิน อุณหภูมิร้อนหนาว ร่างกายที่กดทับเบาะ จากนั้นทบทวนกติกาการเยี่ยม เช่น การเปิดกว้าง การรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ให้คำชี้แนะ อาสาเพียงอยู่เป็นเพื่อนด้วยสถานะที่เท่าเทียมกับผู้ป่วย

เมื่อพร้อมแล้ว พวกเราเปิดตาและลุกขึ้น อาสาบางคนเตรียมหมอนเพื่อเป็นสิ่งของประกอบการเยี่ยม ทั้งหมอนหลอดที่ช่วยป้องกันแผลกดทับ และหมอนหนุนแขนบรรเทาความเมื่อยล้าจากการนอนเป็นเวลานาน รวมทั้งหนังสือธรรมะที่หลากหลาย ของเยี่ยมทั้งหมดมาจากผู้มีจิตศรัทธาที่ช่วยกันทำขึ้น หรือไม่ก็ช่วยกันซื้อมาบริจาค

เมื่อพร้อมแล้ว อาสาก็เปิดประตูออกไป

อาสา I See U

ถึงแม้อาสาสมัครเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้าย จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ส่วนใหญ่มักอยู่ในสังคมชนบท เพราะผู้ป่วยไม่ค่อยกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว และวิถีการไปมาหาสู่ระหว่างผู้ป่วยระยะท้ายกับชุมชนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผู้ป่วยในสังคมเมืองมักไม่สบายใจนักหากจะมีคนมาเยี่ยมให้กำลังใจ และมักไม่ต้องการรับความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้า ดังนั้น โอกาสที่คนเมืองจะได้เป็นอาสาสมัคร ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้ายจึงมีไม่มากนัก

นอกจากนี้ การเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล ยังต้องประสานงานกับบุคลากรโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด เพราะการเยี่ยมผู้ป่วยโดยไม่มีความรู้หรือทักษะการเยี่ยมที่มากพอ แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วย บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยแย่ลง คำพูดที่ผิดหู หรือการยัดเยียดการดูแล อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจ และส่งผลเสียต่อการดูแลโดยรวม

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม I See U เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่สังคมไทยควรจะมีอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ในฐานะพี่น้องร่วมสังคม และในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย นอกจากนี้ การดูแลความเจ็บป่วยเป็นโอกาสที่ผู้เยี่ยมจะได้เจริญสติ บ่มเพาะความกรุณา ขณะเดียวกัน การให้ความช่วยเหลือด้วยใจที่บริสุทธิ์และการให้พลังบวก ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและคุณภาพการตายของผู้ป่วยได้จริง ดังที่อาสาสมัครหลายท่านได้ประจักษ์ในหลายกรณี

I See U เป็นชื่อเล่นของโครงการ "ส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชน ในการช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย" ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 และเริ่มพัฒนากลุ่มอาสาสมัครเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยมีพระอาจารย์ครรชิต อกิญฺจโน เป็นพระวิทยากรหลัก ท่านอาศัยหลักการเจริญสติมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการให้ความช่วยเหลือทางใจแก่ผู้ป่วยระยะท้าย

การเดินสายอบรมของพระครรชิต ส่งผลให้บุคลากรโรงพยาบาลหลายแห่งรู้จักท่าน และเปิดพื้นที่ให้อาสาสมัครเข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วย เมื่อพี่ชัยเห็นความตั้งใจของพระครรชิต จึงปวารณาตัวมาช่วยประสานงานการอบรม รวมทั้งริเริ่มอบรมอาสาสมัครเพื่อรวมกลุ่มกันไปเยี่ยมผู้ป่วยตามโรงพยาบาลในโอกาสต่างๆ ชื่อกลุ่ม I See U มาจากการทำงานเยี่ยมผู้ป่วยหนักห้อง ICU นอกจากนี้ เสียงของชื่อกลุ่มยังพ้องกับความหมายที่ดีของการเยี่ยมผู้ป่วย นั่นคือ “ฉันเห็นคุณ”

การเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายจะเป็นงานที่ยาก ผู้เยี่ยมต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และภาวะความเจ็บป่วยที่เผยความเปราะบางและทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ พี่ชัยจึงเคยพบคำถามจากเพื่อนว่า “ใครกันจะบ้ามาเยี่ยมผู้ป่วยกับเธอ?” แต่พี่ชัยก็ทำงานอบรมด้วยความศรัทธา และมีผู้สมัครมาเป็นอาสาเต็มจำนวน 40 คนทุกครั้งที่เปิดการอบรม จนถึงปัจจุบันอบรมมาเป็นรุ่นที่ 8 แล้ว

อาสาที่ผ่านการอบรม จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมในทีมเยี่ยมผู้ป่วยได้ โดยไม่มีข้อผูกมัดว่าอบรมแล้วจะต้องมาร่วมเยี่ยมกับกลุ่ม เพราะพี่ชัยเชื่อว่า การสร้างข้อผูกมัดหรือเงื่อนไข น่าจะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของอาสาสมัครในสังคมไทย อีกประการหนึ่งคือ แม้อาสาจะไม่ได้มาเยี่ยมดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่ก็สามารถนำความรู้และทักษะจากการอบรมไปดูแลญาติพี่น้องได้เช่นกัน

ในปัจจุบัน อาสา I See U มักเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วยตามโรงพยาบาลในเขตปริมณฑล เช่น รพ.ปทุมธานี รพ.อยุธยา รพ.ราชบุรี รพ.สมุทรปราการ การเยี่ยมครั้งหนึ่งไม่จำกัดจำนวนอาสาสมัคร เพราะสามารถแบ่งสายเยี่ยมได้เป็นกลุ่มๆ นอกจากนี้ การเยี่ยมจะจบลงเป็นครั้งๆ อาสาจะไม่ได้เยี่ยมผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ในการเยี่ยมแต่ละครั้ง อาสาจึงต้องทำให้ดีที่สุด ให้กำลังใจให้มากที่สุด เพราะโอกาสที่จะเจอผู้ป่วยคนเดิมอีกมีน้อยมาก

น้องเป้

ทางเดินระหว่างห้องพักอาสา กับที่พักของหอผู้ป่วยเด็กระยะท้ายไม่ไกลนัก อาสา I See U เดินไปหาน้องเป้และยายทวด ผู้ป่วยคนแรกของวันด้วยความสงบ ระหว่างเดินก็สร้างความรู้สึกตัวเพื่อความตั้งมั่นและมีสติไปพร้อมกัน

เด็กชายอายุสิบเอ็ดขวบนอนร้องเรียกหาแม่ด้วยเสียงดังสนั่น ที่ข้างเตียงมียายทวดเฝ้าไข้อยู่ไม่ห่าง พี่ชัยและแม่จิ๋วเดินเข้าไปใกล้น้องเป้และยายทวด จับมือให้กำลังใจทั้งสอง

เมื่อยายทวดได้ยินคำถามว่า "เป็นอย่างไรบ้าง" เธอบ่นอุบถึงแม่ของเด็กน้อยที่ไม่สามารถมาเยี่ยมได้เพราะถูกดำเนินคดีในเรือนจำ ส่วนพ่อเพิ่งลาออกจากงานและไม่ค่อยมีเวลามาเยี่ยมมากนัก ยายทวดเองก็สงสารที่เหลนต้องเผชิญความเจ็บป่วยมากมายเพียงนี้ เหลนของเธอเพิ่งผ่าตัดศีรษะเพื่อรักษาอาการของมะเร็งที่ลุกลาม ส่วนน้องเป้ก็สูญเสียการมองเห็นด้วยพยาธิสภาพของโรค

แม่จิ๋วเข้าไปปลอบโยน รับฟัง ความทุกข์และเรื่องราวจากยายทวดหลั่งไหลพร้อมน้ำตาที่หลั่งรินออกมาไม่หยุด ส่วนพี่ชัยก็เข้าไปสัมผัสที่แขนของน้องเป้อย่างอ่อนโยนเป็นจังหวะ เคลื่อน-หยุด ซึ่งเป็นอุบายเรียกสติของเด็กน้อยให้กลับมาอยู่ที่ฐานกาย สัมผัสนั้นช่วยปลอบโยนให้น้องเป้สงบลงและหลับในที่สุด

พี่ชัยชวนยายทวดทำตาม แทนที่จะบ่นพร่ำกับน้องเป้ ก็ให้ยายทวดสัมผัสเด็กน้อยเป็นจังหวะ ยายทวดอวดว่าน้องเป้รู้จักคำว่า “พุทโธ” พี่ชัยจึงสาธิตการสัมผัสพร้อมคำบริกรรมพุทโธอย่างอ่อนโยน ซึ่งก็ช่วยให้น้องเป้ผ่อนคลายและสงบลงอย่างได้ผล

ก่อนกลับ พี่ชัยกล่าวชื่นชมยายทวดที่อุทิศเวลาให้กับการดูแลเหลน ถือว่าได้ทำบุญมาก และขอให้ถือว่าการมาโรงพยาบาลคือการมาเจริญภาวนาพุทโธร่วมกับน้องเป้

พี่นัท

ช่วงบ่าย กลุ่มอาสาเปิดประตูเข้าห้องพิเศษของหอผู้ป่วยนรีเวช เราได้พบพี่นัท ผู้ป่วยหญิงวัยกลางคนที่สูญเสียน้ำหนักตัวจากมะเร็งที่ลุกลาม เธอนั่งยิ้มต้อนรับทั้งๆ ที่กระดูกของเธอแสนจะเปราะบาง อาสาสมัครต้องเตือนให้พี่นัทนอนราบลงกับเตียงเพราะถ้านั่งแล้วเสี่ยงที่กระดูกสะโพกจะหัก

จากการพูดคุยเราพบว่าพี่นัทเป็น อสม. ที่ทำงานอย่างแข็งขันมากว่า 20 ปี เธอยังให้การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้ายในชุมชนเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้น ประสบการณ์การเผชิญความตายจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับพี่นัท ระหว่างการรักษาตัว เธอยังรักษาใจของเธอด้วยการสวดมนต์และเจริญภาวนา จึงเป็นทุนอย่างดีที่ทำให้พี่นัทยังคงมีความสุขและยิ้มได้ แม้ว่าจะเจ็บป่วยหนักถึงขั้นนี้ก็ตาม

การให้กำลังใจของอาสา จึงมิใช่การทำสิ่งใดมากไปกว่าการให้ความสนใจ ถามไถ่ความเป็นอยู่ของผู้ป่วย กระตุ้นให้ผู้ป่วยพูดถึงสิ่งดีงามของตน ระหว่างนั้น อาสารับฟังด้วยความเคารพ ไม่แทรกแซง ถึงแม้จะมีความเงียบระหว่างการสนทนาบ้าง ก็เพียงปล่อยให้ความเงียบได้ทำหน้าที่โอบอุ้ม ส่งสัญญาณอนุญาตให้ผู้ป่วยเป็นผู้นำประเด็นการสนทนาได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน หากเห็นว่าผู้ป่วยมีประสบการณ์การภาวนา หรือมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดที่เคารพ อาสาก็อาจชวนภาวนาหรือร่วมกันสวดมนต์

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องตระเตรียมล่วงหน้า เพียงแต่วางใจในญาณทัศนะของผู้เยี่ยม มีสติอยู่กับปัจจุบัน ทำความรู้สึกตัวในระหว่างการเยี่ยมให้กำลังใจ การสร้างความมั่นคงภายในตัวเอง การเป็นแหล่งพลังบวก พลังงานดีๆ ก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องมุ่งหวังที่จะทำสิ่งพิเศษใดๆ ให้แก่ผู้ป่วยเลย

I See U และความท้าทายของระบบอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้าย

ถึงแม้การเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วยระยะท้ายจะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ผู้ป่วยได้รับกำลังใจจากอาสาสมัคร ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระงานของพยาบาลที่ไม่สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง ส่วนตัวอาสาเองก็ได้เรียนรู้การดูแลความเจ็บป่วยทางใจ และนำเอาการเจริญสติภาวนามาใช้เกื้อกูลต่อเพื่อนร่วมทุกข์คนอื่นๆ ถึงกระนั้น การเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายก็ยังเป็นสิ่งที่พบเห็นได้น้อย เนื่องจากสังคมไทยยังมีเงื่อนไขข้อท้าทายอีกมาก

ทั้งการฝึกอบรมความรู้และทักษะการดูแล ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านกระบวนการเชิงประสบการณ์ ให้อาสาสมัครมีทัศนคติที่ดีต่อการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการเผชิญความตาย มีทักษะในการอยู่กับปัจจุบัน ทักษะในการรับฟัง ชวนคุย ตั้งคำถาม การเท่าทันความอยากและกิเลสของตนเองระหว่างเยี่ยมผู้ป่วย

ขณะที่ระบบบริการสุขภาพของไทย ยังไม่รองรับการทำงานของอาสาสมัครเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายมากนัก เช่น ขาดผู้ประสานงานดูแลจัดการระบบอาสาสมัครในโรงพยาบาล การฝึกอบรมอาสาสมัครให้มีทักษะที่จำเป็นระหว่างการเยี่ยม และที่สำคัญ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาระบบอาสาสมัคร ขาดบุคลากรที่เอาจริงเอาจัง เชื่อมั่น และอุทิศตนให้แก่การสร้างระบบอาสาสมัครระยะยาวในโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม พี่ชัยเสนอว่า การสร้างกิจกรรมเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวและผู้ป่วยระยะท้ายยังเป็นสิ่งที่ทำได้ หากมีปัจจัยสำคัญเพียงสองอย่าง อย่างแรกคือ ต้องมีบุคลากรโรงพยาบาลตัวจริงที่สนใจผลักดันกิจกรรมอาสาสมัครเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วยระยะท้าย และอย่างหลังคือ ต้องได้รับสนับสนุนจากผู้บริหาร เช่น การอนุญาตให้อาสาสมัครใช้ห้องพัก การอนุญาตให้พยาบาลหอผู้ป่วยต่างๆ จัดหาผู้ป่วยและครอบครัวให้อาสาเข้าเยี่ยม การอำนวยการด้านเอกสารราชการที่จำเป็น เป็นต้น

ไม่เพียงแต่อาสาสมัครกลุ่ม I See U เท่านั้น ที่พึงได้รับการสนับสนุนจากระบบบริการสุขภาพให้มีที่ทางในการสนับสนุนดูแลสุขภาพทางใจของผู้ป่วยระยะท้าย หากสังคมไทยก็ควรช่วยกันสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยโดยรวมด้วย เพราะนี่คือการสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพภาคประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัวในลักษณะอื่นๆ รวมทั้งทำให้ความกรุณา การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กลายเป็นสำนึกหลักในระบบบริการสุขภาพของไทย

หมายเหตุ:
บันทึกจากการร่วมเยี่ยมผู้ป่วยกับกลุ่ม I See U ณ โรงพยาบาลราชบุรี วันที่ 23 สิงหาคม 2561

บุคคลสำคัญ
อรุณชัย นิติสุพรรัตน์
วรัชทยา อินภมร

[seed_social]
16 พฤษภาคม, 2561

รับฟังอย่างลึกซึ้ง: ประตูสู่หัวใจ ช่วยคลายทุกข์และเยียวยา

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมท่านหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเคยเล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่เธอป่วยอยู่ มีอาสาสมัครคนหนึ่งมาเยี่ยมให้กำลังใจเธอที่บ้านเกือบทุกวัน แต่เผอิญอาสาสมัครท่านนั้นก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน
21 ธันวาคม, 2560

ดูแลผู้ดูแล

จิตอาสาคนหนึ่งเขียนในใบประเมินว่า “แนวทางการเป็นจิตอาสาเทียบเคียงกับมรรคมีองค์แปดสัมพันธ์กันได้ดีมาก เห็นภาพชัดเจน” จริงๆ แล้วอยากบอกว่า มรรคมีองค์แปดของพระพุทธองค์ใช้ได้กับทุกอาชีพทุกสถานการณ์
18 เมษายน, 2561

เหมือนรู้ว่าต้องจากกัน

“หมอๆ ช่วยดูให้ฉันหน่อยสิว่า ผัวฉันมีข้าวกินหรือเปล่า” นั่นเป็นเสียงของป้าแสงคนไข้ที่มาด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเกิดจากมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ