สุนทรียะกับความตายจากมุมมองเซน

เรียบเรียง: ดิเรก ชัยชนะ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

          เซนเป็นพัฒนาการหนึ่งของพุทธศาสนาที่พัฒนาขึ้นในประเทศจีนโดยเฉพาะแล้วได้แพร่ขยายสู่ญี่ปุ่นและเกาหลี ในญี่ปุ่นเซนมีสองสายหลักคือ สายรินไซเซนที่เน้นปริศนาธรรม (โกอาน) และสายโซโตเซนที่เน้นการนั่งภาวนา (ซาเซน) อย่างไรก็ตาม บุคลิกลักษณะของเซนที่เหมือนกันคือ การทำสมาธิ สื่อสารจากจิตสู่จิต และไร้รูปแบบการสอน ประเด็นการเกิดและการตายเป็นหนึ่งในเนื้อหาที่เซนสนใจและพยายามชี้ให้เห็นว่า การเกิดและการตายไม่ได้เป็นสองสิ่งที่แยกขาดกัน การเกิดและการตายเป็นพุทธะหรือสุญญาตา มิติสุนทรียะเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดสัจธรรมนี้ผ่าน บทกวี ภาพวาด หรือการจัดดอกไม้ ที่มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และชี้ตรงไปยังจิตแห่งพุทธะให้ตื่นขึ้นจากมายาคติแห่งการเกิดและตาย

บุคลิกลักษณะแบบเซนคืออะไร

          ตามตำนานกล่าวกันว่า โพธิธรรม หรือตั๊กม้อ เป็นผู้ที่นำเซนเข้าไปเผยแพร่ในจีน ที่ทำให้เซนพัฒนารูปแบบเฉพาะ ของการถ่ายทอดธรรมะ แล้วสืบทอดต่อมายังญี่ปุ่นและเกาหลี ถึงแม้ว่าอาจารย์หลายท่านจะบอกว่า เซนคือเซนเท่านั้น แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เซนเป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนา ในญี่ปุ่นเซนมีสองสายหลักคือ สายรินไซเซน ที่เน้นปริศนาธรรม (โกอาน) เช่น “ก่อนหน้าเธอมา เกิดหน้าตาเป็นอย่างไร”  คำถามเหล่านี้ไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่มีไว้เพื่อใคร่ครวญจนเกิดเป็นสมาธิและแนบสนิมกับคำถาม และมีอาจารย์เท่านั้นที่จะรู้ว่าศิษย์มีสภาวะจิตอย่างไร  อีกสายคือ โซโตเซน ที่เน้นการนั่งสมาธิ (ซาเซน) คือนั่งเพื่อนั่ง เพื่อฝึกรื่นรมย์อยู่กับปัจจุบันขณะให้ถึงที่สุด ทั้งสองสายแสดงบุคลิกลักษณะของเซนที่เหมือนกันคือการมีสมาธิเป็นหลัก การสื่อสารจากจิตสู่จิตแต่ไม่สื่อสารผ่านคัมภีร์ และการสอนแบบไร้รูปแบบ เช่น การเผาพระพุทธรูปที่ปรากฎในนิทานเซน การกระทำเช่นนี้เป็นไปตามบริบทที่อาจารย์เซนใช้สื่อสารธรรมะ และไม่ได้มีท่าทีลบหลู่ใด

               

มุมมองของเซนกับการเกิดและการตาย

          การเกิดและการตายเป็นหัวข้อหนึ่งที่นำมาใช้เป็นปริศนาธรรมเพื่อใช้ใคร่ครวญทำความเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งอันแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังของการเกิดและการตาย อาจารย์เซนบางท่านเมื่อหยั่งเห็นถึงความต่อเนื่องที่ไม่ขาดตอนระหว่างการเกิดและการตาย หรือเป็นอิสาระจากมุมมองแบบทวิลักษณ์ ในวินาทีแห่งการค้นพบนั้นบางท่านยิ้มหรือไม่ก็หัวเราะ อิคิว (Ikkyū Sōjun, 1394-1481) เป็นธรรมจารย์เซนในสายรินไซ และเป็นพระที่อยู่นอกกรอบชอบออกไปนอกวัดไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อพบปะผู้คนชายขอบในสังคมยุคนั้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผู้คนกำลังเฉลิมฉลองท่านได้เห็นถึงความ สังเวชที่คนไม่ตระหนักถึงความตาย ท่านจึงนำไม้มาเสียบหัวกระโหลกแล้วเดินไปตามบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆทั่วเมืองเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้คนระลึกถึงความตาย การกระทำเช่นนี้เป็นบุคลิกลักษณะของเซน ที่สื่อสารอย่างเรียบง่าย ซื่อๆ และตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ท่านได้แต่งบทกวีที่มีเนื้อหาคำสอนบทกวีโครงกระดูกที่ว่า ไม่ว่าเป็นชาย หญิง นั่ง ยืน เดิน ดื่มชา คือโครงกระดูกและโครงกระดูกเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นอะไรอื่นแต่คือสุญญตา และสุญญตาก็ไม่ได้เป็นอะไรอื่นนอกจากพุทธะ กล่าวได้ว่า มุมมองของเซนต่อการเกิดและตายไม่ได้แยกจากกัน ทั้งไม่ได้แยกจากพุทธะ

ภาพ เนื้อหาคำสอนบทกวีหัวกะโหลกของอิคิว

 

บทโชจิของโดเง็น

          โดเง็น  (Dōgen Zenji) อาจารย์เซนสายโซโต ได้แต่งคัมภีร์โชโบเคนโซ (Shōbōgenzō)  ในบทโชจิ ได้เขียนคำสอนเกี่ยวกับการเกิดและตายที่มองว่า การเกิดและการตายเป็นพุทธะ ไม่มีอะไรที่จะต้องปฏิเสธและพุทธะไม่สามารถหาได้จากภายนอกแต่มีอยู่ในขณะนี้ ทุกสิ่งเกิดขึ้นและจบลงขณะนั้น ตายคือตาย เกิดคือเกิด สะท้อนความตรงไปตรงมาและไม่เยิ่นเย้อของบุคลิกลักษณะแบบเซน บทโชจิ (การเกิดและการตาย) ของโดเง็นมีคำสอนดังนี้

ด้วยพุทธะนั้นอยู่ในการเกิดและตาย มันจึงไม่มีการเกิดและตาย
ด้วยพุทธะไม่ได้อยู่ในการเกิดและตาย พุทธะจึงไม่ถูกลวงหลอกด้วยเกิดและตาย
ถ้าเธอแสวงหาพุทธะที่นอกไปจากการเกิดและตาย
ก็เหมือนพยายามไปแดนใต้ด้วยการหันไปทางทิศเหนือ
หรือต้องการเห็นดาวเหนือ แต่หันหน้าไปทางใต้
จะเป็นเหตุแห่งการเกิดและตายมากยิ่งขึ้น จนหมดหนทางตรัสรู้
เพียงเข้าใจว่า เกิดตายนั้นแลคือนิพพาน
ไม่มีเกิดตายที่ต้องหลีกหนี ทั้งไม่มีนิพพานที่ต้องแสวงหา
เมื่อเข้าใจแจ้งสิ่งนี้ ก็จะเป็นอิสระจากเกิดและตาย

อย่าคิดเดาเอาว่ามีการเปลี่ยนจากเกิดไปเป็นตาย
เกิดนั้นเป็นเวลาในขณะของมันเอง มีอดีตและอนาคตในตัวมันเอง
ด้วยเหตุนี้ ในพุทธะจึงกล่าวว่าไร้การเกิด (เหนือเกิด)
ความตายนั้นเป็นเวลาในขณะของมันเอง
มีอดีตและอนาคตในตัวมันเอง
ด้วยเหตุนี้ พุทธะจึงกล่าวว่า ไร้ตาย (เหนือตาย)
เกิดไม่ใช่อื่นใดนอกจากเกิด
ตายไม่ใช่อื่นใดนอกจากตาย
เมื่อเกิดมาเยือนก็จงแค่เกิด เมื่อตายมาเยือนก็จงแค่ตาย

เมื่อเผชิญหน้ามัน อย่าได้ยึดติดหรือฝักใฝ่อันใดอันหนึ่ง
เกิดและตายคือชีวิตของพุทธะ
ถ้าเธอผลักไสมัน เธอก็สูญเสียชีวิตแห่งพุทธะ
แต่ถ้าเธอยึดยื้อมันไว้ เธอก็สูญเสียชีวิตแห่งพุทธะเช่นเดียวกัน
เมื่อใดที่เธอไม่หลีกหนีรังเกียจมัน ไม่รักมั่นแสวงหามัน
เมื่อนั้นจะเข้าถึงจิตแห่งพุทธะ 
อย่างไรก็ตาม อย่าได้ใช้จิตคิดคำนวนมัน
อย่าได้พร่ำพูดถึงมัน
จงปล่อยวาง และละลืมกายและใจของฉัน (ตัวตนของฉัน)
จงสละมันให้เป็นชีวิตของพุทธะ
ปล่อยให้มันเป็นกิจแห่งพุทธะ
เมื่อดำเนินไปตามนี้
เธอจะเป็นอิสระจากเกิดและตาย โดยไม่ต้องตรากตรำกายใจ
ใครกันเล่าที่ยังข้องอยู่ในจิต

นี่คือหนทางที่ง่ายที่สุดสู่การเป็นพุทธะ
คือละเว้นความชั่ว
อย่ายึดติดในทั้งชีวิตและความตาย
มีความกรุณาต่อสรรพสัตว์
นอมน้อมต่อผู้อาวุโส
เมตตาต่อผู้อ่อนกว่า
ไม่รังเกียจหรือปรารถนาสิ่งใดๆ
ปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระจากความคิดและความกังวล
เมื่อทำได้ดังนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นพุทธะ
และอย่าได้แสวงหนทางอื่นใดอีก

          ในสองประโยคแรกนี้ท่านโดเง็นหยิบยืมมาจากอาจารย์จีน 2 ท่าน ที่ว่า “เพราะพุทธะอยู่ในเกิดตาย ความตายจะมีได้อย่างไร” และอีกท่าน “พุทธะไม่ได้อยู่ในเกิดตายแล้วพุทธะจะเกี่ยวกับเกิดตายได้อย่างไร”  แล้วโดเง็นได้อธิบายเพิ่มว่า ถ้าหากเราไปแสวงหาพุทธะนอกจากการเกิดตายแล้วจะหาไม่เจอและผิดด้วย ทั้งเป็นเหตุแห่งการเกิดตายซ้ำๆ ทั้งได้เน้นย้ำถึงการอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างถึงที่สุดว่า การเกิดมีช่วยเวลาของมันเอง ตายก็มีช่วงเวลาของมัน เกิดก็คือเกิด ตายก็คือตาย จบ! ไม่ได้เกี่ยวกัน กล่าวคือแต่ละอย่างสมบูรณ์ในตัวมันเอง เกิด แก่ เจ็บ และตาย ต่างก็สมบูรณ์ในตัวมันเอง

บทกวีแห่งความตาย

          ตามธรรมเนียบปฏิบัติของอาจารย์เซน เมื่อใกล้ตายจะแต่งบทกวีแห่งความตาย (jisei หรือ death poem) เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกหรือการตื่นรู้ต่อความจริงของความตายให้ลูกศิษย์ได้ใช้ใคร่ครวญ ตัวอย่างบทกวีแห่งความตายดังนี้

“ ช่วงทำนองแห่งการไม่มีอยู่
สัมผัสถึงความว่าง
พระอาทิตย์ฤดูใบไม้ผลิ
หิมะขาว เมฆสว่าง และลมกระจ่าง ”

(ไดโดะ อิชิอิ)

“ เมื่อมันมาก็แค่นั้น
เมื่อมันไปก็แค่นั้น
ทั้งการมาและการไปเกิดขึ้นในแต่ละวัน
ที่ฉันพูดอยู่ก็แค่นั้น ”

(ฟุโช โดโช)

 

“ ชีวิตนั้นเป็นดังที่เราประสบ
ความตายก็เช่นกัน
บทกวีแห่งการจากลา
ใยต้องเรียกร้อง ”
(ไดเอะ โซโค)

          การเขียนบทกวีแห่งความตายไม่ใช่ว่าอาจารย์เซนทุกท่านจะเขียน อาจารย์บางท่านเช่น ทัคคัน (Takkan, 1574-1645) ได้เขียนบทกวีตัวเดียวว่า “ฝัน” หรือบางท่านไม่ได้เขียนเลย บทกวีเหล่านี้อาจารย์เซนเขียนขึ้นมาไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อศิษย์ไปคิดต่อ กล่าวได้ว่า ประสบการณ์สุนทรียะเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงการเปิดรับ ชื่นชมและหยั่งเห็นความจริงของการเกิดตาย

 

สรุป

          หากมองว่าการตายเป็นสิ่งที่ต้องปฏิเสธ หรือการเกิดและการตายแยกจากกันเด็ดขาด นั่นคือความหลงของมุมมองแบบทวิลักษณ์ และตราบใดที่เรายังเห็นการแบ่งแบ่งแยกเช่นนี้ ก็ไม่สามารถไปพ้นจากการเกิดและตายได้ เซนได้ชี้ตรงไปยังมิจฉาทิฐินี้ว่า แท้จริงแล้วการเกิดและการตายนั้นไม่ได้แยกขาดกัน การเกิดตายคือสุญญตาคือพุทธะ ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธและแสวงหาจึงจะเป็นอิสระจากการเกิดตาย นั่นคือการตายดีจากมุมมองเซน และประสบการณ์สุนทรียะเป็นช่องทางสำคัญ ในการสื่อสารมุมมองและการตระหนักรู้แบบเซนที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และไม่เยิ่นเย้อในการวางทัศนติใหม่ต่อความตาย การสัมพันธ์กับชีวิตจากมุมมองเซนคือ อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่อยู่กับความคิด ไม่ยึดจับสิ่งใด และวางใจแนบสนิทกับพุทธะ 


บทความนี้เรียบเรียงจากเนื้อหาการบรรยายเรื่อง “สุนทรียะกับความตาย” โดย ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ณ ร้านหนังสือ Greenbook Cafe – Space เมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

[seed_social]

5 เมษายน, 2561

หลักการเตรียมตัว เพื่อจากไปอย่างสงบ

ในยามที่ไม่มีเรื่องเดือดร้อนในชีวิต ให้ทำความดีสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราไม่ต้องเดือดร้อนใจเมื่อเกิดวิกฤติ หรือเวลาใกล้ตายก็ไม่มีอะไรที่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจว่าเราได้ทำความชั่วหรือเบียดเบียนใคร
19 เมษายน, 2561

สูญเสีย ไม่สูญเปล่า

ม.ล.สุภาสินี จรูญโรจน์ คุณครูการศึกษาพิเศษ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง เคยผ่านประสบการณ์การสูญเสียคุณพ่ออย่างกะทันหัน และเสียน้องสาวจากโรคมะเร็งในสมองทั้งๆ ที่ก่อนหน้าจะป่วยน้องสาวเธอเป็นคนแข็งแรงและดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ความสูญเสียทั้งสองครั้งแม้ยากจะทำใจ
19 เมษายน, 2561

แม่อุ้ยสม

“ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนต้องตาย ตายเป็นรุ่นๆ ถึงจะรักและห่วงลูกหลานเพียงใด เมื่อถึงเวลาก็ต้องจากไป ชีวิตเป็นเรื่องของแต่ละคนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เอาเอง”