parallax background
 

ภาวนา for love
เยียวยาความเศร้าโศก
แนวพุทธสู่ชุมชนกรุณา

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ความตายหรือการผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นรัก เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเผชิญไม่วันใดวันหนึ่ง จนอาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผลกระทบจากการสูญเสียกลับหนักหนาสาหัสกว่าที่หลายคนคิด และอาจนำไปสู่ภาวะความผิดปกติทางจิตใจหลายประการ โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าที่กระทบต่อการดำเนินชีวิต หลายคนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที การดูแลความเศร้าโศกหลังการสูญเสียจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีหลักฐานจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผู้คนจำนวนมากที่มีภาวะเศร้าเสียใจภายหลังการสูญเสีย หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จะมีอายุสั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มอาสาคิลานธรรมเป็นกลุ่มพระสงฆ์ที่มุ่งทำงานดูแลความทุกข์ของผู้คนในสังคม ส่วนหนึ่งเป็นการเข้าไปดูแลผู้ป่วย จึงพบเห็นและเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวดี และพยายามนำหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนามาคิดค้นเป็นหลักสูตรการเยียวยาความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

ภาวนา for love เป็นชื่อเล่นของ “โครงการอบรมภาวนาแด่ผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก” ถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2553 จากการพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเยียวยาความโศกเศร้าของผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง “ผลของกิจกรรมเชิงพุทธที่เน้นธรรมะเรื่องหลักกรรมและชีวิตหลังความตาย ต่อความเศร้าโศกของผู้เคยสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก” โดยพระปณต คุณวัฑโฒ (ปัจจุบันคือพระครูเมธังกร วัดญาณเวศกวัน) สมาชิกกลุ่มอาสาคิลานธรรม ผู้สูญเสียมารดาแต่ก่อนบวช และได้อาศัยการศึกษาธรรมะมาดูแลความเศร้าโศกจากการสูญเสีย ความรู้สึกติดค้าง กังวล ไม่สบายใจต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ ความสงสัยเรื่องชีวิตหลังความตายว่า ตายแล้วไปเกิดในภพภูมิไหน ก่อนตายมีความทุรนทุรายหรือตายด้วยอุบัติเหตุคือตายไม่ดีใช่หรือไม่ เป็นต้น

ท่านพบว่าพุทธศาสนามีองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน ว่าการไปสู่ภพภูมิหลังจากตายแล้ว ถูกกำหนดด้วยกรรมที่แต่ละคนกระทำไว้ และด้วยกรรมอะไร เมื่อทุกคนมีกรรมเป็นมรดกตกทอดของตนเอง ความทุกข์และเศร้าโศกต่อการจากไปเพราะผู้ตาย จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ทำให้ผู้ตายได้รับผลบุญแต่อย่างใด

ความรู้เรื่องหลักกรรมและชีวิตหลังความตาย ช่วยเยียวยาความเศร้าโศก ความกังวล ไม่สบายใจจากการปฏิบัติต่อโยมแม่ตอนท่านยังเป็นฆราวาสให้จางคลายไปได้ พระปณตจึงอาศัยหลักพุทธธรรมมาพัฒนาเป็นกิจกรรมและกระบวนการเยียวยาผู้สูญเสียญาติมิตรให้เกิดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเยียวยาความเศร้าโศกและทำให้การดำเนินชีวิตกลับสู่ภาวะปกติ แต่ยังช่วยพัฒนาชีวิตและปัญญาให้เติบโตอีกด้วย

กระบวนการเรียนรู้เชิงประสบการณ์
หลังจากนำหลักคิดและข้อค้นพบดังกล่าวมาออกแบบเป็นกิจกรรม “ภาวนา for love” แล้ว พระปณตจึงเชิญชวนผู้เคยสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักระหว่างอายุ 24-77 ปี มาเข้าร่วมการอบรมระยะเวลา 4 วัน 3 คืน เพื่อเป็นกลุ่มทดลองและกรณีศึกษาในวิทยานิพนธ์ ณ ศูนย์อบรมโรงเรียนนาคประสิทธิ์ มูลนิธิวัดบางช้างเหนือ อ.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อปี 2553

โดยการอบรมไม่ใช่การบรรยายธรรมะเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมและกระบวนการที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมเชื่อมโยงธรรมะเข้ากับประสบการณ์ของตนเองและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อทำให้ผู้เข้าร่วมค่อยๆ เรียนรู้การนำธรรมะมาเยียวเยียวความเศร้าโศกและพัฒนาตนเองให้เกิดปัญญาตามหลักไตรสิกขา ภาวนา 4 และอริยสัจ 4 จนกลายเป็นเครื่องมือในการเยียวยาหรือดูแลตัวเองต่อไป โดยวางสัดส่วนกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันให้เหมาะสม ระหว่าง 1. กระบวนการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม (group counselling) 2. การเรียนรู้หลักธรรม 3. การปฏิบัติภาวนา เช่น สวดมนต์ เจริญสติ กระบวนการรับรู้และสังเกตสิ่งต่างๆ

เริ่มจาก “กายภาวนา” การฝึกอบรมพฤติกรรมทางกายวาจา การใช้อายตนะและสติในการสังเกตสิ่งต่างๆ ภายนอก “ศีลภาวนา” การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม กับผู้คน เนื่องจากผู้สูญเสีย มักจมอยู่กับสิ่งที่ทำให้ตัวเองเศร้าโศก จึงมีกระบวนการเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมขยายความสัมพันธ์จากคนในครอบครัวไปสู่เพื่อนร่วมอบรมอื่นๆ ที่ผ่านประสบการณ์และเข้าใจเรื่องการสูญเสีย จนก่อให้เกิดความรักความผูกพันและบรรยากาศที่ไว้วางใจกัน ส่งผลให้กระบวนการต่างๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่น

นำไปสู่ “จิตภาวนา” การพัฒนาจิตใจ ด้วยการรับฟังกัน เข้าอกเข้าใจกัน มีพื้นที่ปลอดภัยในการดูแลตัวเอง บอกเล่าสิ่งที่อัดอั้นตันใจและความอ่อนแอของตัวเองออกมา โดยใช้กระบวนการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มช่วยดูแล จนทำให้ผู้เข้าร่วมตระหนักรู้ด้วยตนเอง แล้วจึงแทรกธรรมะแต่ละระดับเข้าไป ทำให้ผู้เข้าร่วมค่อยๆ เกิดความเข้าใจและน้อมธรรมะเข้ามาใส่ตนอย่างเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อแสดงหัวข้อธรรมที่ตรงกับข้อกังวลสงสัยหรือประเด็นค้างคาใจตัวเอง จึงเป็นคำตอบที่มาช่วยเติมเต็มความเข้าใจ จนกลายเป็น “ปัญญา”

กิจกรรมหนึ่งอันเป็นตัวอย่างรูปธรรมของกระบวนการเรียนรู้ภาวนา for love คือ การชงชาดอกไม้ทุกเช้าในกลุ่มย่อย ซึ่งครอบคลุมมิติทางกาย ศีล จิต และปัญญาในกิจกรรมเดียว เริ่มจากวงน้ำชาวันแรก พระผู้นำวงคุยกลุ่มย่อยจะรินน้ำชาให้ผู้เข้าร่วมรินต่อๆ กันไปจนครบรอบวง แล้วนั่งจิบชาสบายๆ ใช้อายตนะสัมผัสกลิ่น รส และใช้ใจรับรู้ความรู้สึกกับความคิดไปด้วย ก่อนซักถามถึงการเรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมา ซึ่งจะนำไปสู่การบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลอันเป็นที่รักไปเองโดยธรรมชาติ และช่วยทำให้เกิดการเยียวยากันและกันในกลุ่มไปด้วยเลย ก่อนจะค่อยๆ ยกระดับการภาวนาในวงน้ำชาวันต่อมา รับรู้และสังเกตถ้วยชาตรงหน้าด้วยอายตนะต่างๆ เช่น การเห็น ได้กลิ่น แล้วสอบถามความรู้สึกที่ได้รับ เป็นการฝึกสติในแต่ละขณะๆ ต่อด้วยการฝึกจิตภาวนาในวงน้ำชาวันที่สาม เรียนรู้และอธิบายให้เห็นการทำงานของขันธ์ห้าว่าเป็นเหตุปัจจัยต่อกันอย่างไร ทำให้ผู้เข้าร่วมแยกแยะความรู้สึกกับความคิดออกจากกันได้อย่างชัดเจน แล้วจึงสรุปปัญญาปฏิบัติจากการชงชาและดื่มชาในวันสุดท้าย ซึ่งพบว่าวงน้ำชาทำให้หลายคนเข้าใจชีวิตมากขึ้น

กระบวนการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ดังกล่าว เมื่อประกอบเข้ากับการดูแลความทุกข์ใจโดยใช้หลักอริยสัจ 4 มาจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมตระหนักรู้ความทุกข์ของตัวเอง มองเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ จนเริ่มเข้าใจและปล่อยวางแล้ว ความทุกข์จะดับ สิ่งต่างๆ ที่ติดค้างคาใจจะจางคลายไปในที่สุด

จากการวัดผลกระบวนการดังกล่าวโดยใช้แบบสำรวจคะแนนความเศร้าโศกแบบองค์รวม 5 ด้าน คือ อารมณ์ การรู้คิด กายภาพ สังคม และจิตวิญญาณ พบว่าผู้เข้าร่วมจะคลายความเศร้าโศกของตนเองและพัฒนาศักยภาพในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำเร็จจากการจัดอบรมกลุ่มทดลองดังกล่าว ทำให้ศูนย์กุมารบริรักษ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มอาสาคิลานธรรมในการดูแลผู้ป่วยเด็กและญาติอยู่แล้ว ให้ความสนใจและเป็นเจ้าภาพเชิญกลุ่มอาสาคิลานธรรมมาจัดอบรมการดูแลความโศกเศร้าให้กับพ่อแม่หลังการสูญเสียลูก อันเป็นกระบวนการที่ช่วยเสริมงานดูแลแบบประคับประคองของโรงพยาบาล ซึ่งจะใช้นักจิตวิทยาโทรศัพท์ไปติดตามสอบถามพ่อแม่เพื่อดูแลภายหลังการสูญเสีย (Bereavement care) และช่วยให้ลดความเศร้าโศกของพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี จึงจัดอบรมอย่างต่อเนื่องมาอีกหลายปี

นอกจากการจัดอบรมให้ศูนย์กุมารบริรักษ์แล้ว กลุ่มอาสาคิลานธรรมยังจัดการอบรมให้กับคนกลุ่มต่างๆ ตามจังหวะโอกาสและการสนับสนุนมาจนถึงปัจจุบัน

เดินทีละก้าว
จะเห็นว่า การอบรมภาวนา for love เป็นกระบวนการที่มีความประณีตละเอียดอ่อนมาก จึงมีเงื่อนไขหลายประการที่ทำให้การขยายเรื่องดังกล่าวออกไปได้น้อย เช่น เรื่องบุคลากรผู้จัดงาน เนื่องจากการอบรมต้องอาศัยคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องหลักธรรม จิตวิทยาเชิงพุทธ และกระบวนการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ซึ่งในกลุ่มอาสาคิลานธรรมมีผู้จัดกระบวนการดังกล่าวได้เพียงประมาณสิบคน ต้องสลับสับเปลี่ยนกันมาเข้าร่วมจัดอบรมเนื่องจากแต่ละท่านมีภาระงานมาก

เรื่องจำนวนผู้เข้าร่วม ต้องไม่เกิน 25 คน เพื่อให้พอเหมาะกับจำนวนผู้จัดกระบวนการให้คำปรึกษา และลักษณะของกระบวนการที่ต้องอาศัยความใกล้ชิดกันมาก ไม่เหมาะกับการอบรมขนาดใหญ่ รวมถึงผู้เข้าร่วมจะต้องผ่านการสูญเสียมาสักช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งประสบกับความสูญเสียหรือมีอาการโศกเศร้าจากการสูญเสียมากเกินไป ซึ่งจะต้องใช้กระบวนการแยกเดี่ยว ไม่เหมาะกับการเข้าร่วมการอบรมเป็นกลุ่ม ประกอบกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มอาสาคิลานธรรม ผู้เข้าร่วมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด จึงต้องมีผู้สนับสนุน ทำให้กลุ่มจัดการอบรมภาวนา for love ไปเพียง 11 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

ทางกลุ่มตระหนักถึงข้อจำกัดดังกล่าว จึงให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ ในช่วงแรก พระคุณเมธังกร พระครูธรรมรัต (ธนัญชัย เตชปัญโญ) และเพื่อนพระสงฆ์กลุ่มอาสาคิลานธรรมรุ่นบุกเบิกจะเป็นผู้จัดกระบวนการอบรมด้วยตัวเอง แต่ในปัจจุบันท่านจะผันตัวเองมาเป็นผู้สนับสนุน เปิดโอกาสให้พระสงฆ์รุ่นใหม่ในกลุ่มบ่มเพาะการเป็นผู้จัดกระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝนยาวนาน เพราะการเยียวยาผู้สูญเสียเป็นงานยากที่สุดอย่างหนึ่งในกระบวนการให้คำปรึกษา ผู้จัดกระบวนการกลุ่มจะต้องมีประสบการณ์เรื่องการให้คำปรึกษาในรูปแบบต่างๆ มากพอ จึงจะมาทำเรื่องการให้คำปรึกษาผู้สูญเสียได้ ทำให้การขยายงานดังกล่าวในนามของกลุ่มอาสาคิลานธรรมดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่หากมีพระสงฆ์ท่านใดหรือกลุ่มใดที่สนใจและพร้อมจะทดลองจัดกระบวนการดังกล่าว ทางกลุ่มอาสาคิลานธรรมยินดีให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา รวมถึงช่วยสนับสนุนการทำงานด้วยตามกำลังที่มี

ล่าสุด หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จะเป็นผู้สนับสนุนการอบรมในปี 2562 ทำให้กลุ่มอาสาคิลานธรรมยังคงจัดงานอบรมภาวนา for love อย่างสืบเนื่องต่อไป

สู่ชุมชนกรุณา
ข้อเรียนรู้สำคัญอีกอย่างหนึ่งจากงานอบรมภาวนา for love คือ ผลของการจัดกิจกรรมนอกจากจะช่วยเยียวยาความโศกเศร้าและพัฒนาการดำเนินชีวิตของผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักแล้ว ยังเกิดการสร้างชุมชนของผู้มีประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน จนเป็นความรักความผูกพัน การช่วยเหลือเกื้อกูล ติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอและชักชวนกันไปทำความดีในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นจิตอาสา การปฏิบัติธรรม เป็นต้น หลังจบการอบรม และยังแผ่ขยายออกไปสู่คนอื่นๆ จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นตัวอย่างของชุมชนแห่งความกรุณาอีกรูปแบบหนึ่งที่สังคมไทยและโลกต้องการ

อย่างไรก็ตาม งานภาวนา for love เป็นเพียงบทบาทหนึ่งของกลุ่มอาสาคิลานธรรม งานหลักของกลุ่มที่จะช่วยดูแลความทุกข์ของผู้คนไม่เฉพาะต่อความสูญเสีย คือ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ไม่ใช่การเทศนาธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้ผู้คนมีเครื่องมือและใช้ดูแลความทุกข์ของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสีย ความผิดหวัง ตกงาน อกหัก และความทุกข์อื่นๆ ในชีวิต ซึ่งใช้กระบวนการดูแลแบบเดียวกัน

ถ้าสนใจเข้าร่วมการอบรมภาวนา for love หรือกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มอาสาคิลานธรรม สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้จากหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจ “คิลานธรรม” และเว็บไซต์ “www.gilanadhamma.org” ได้

________
ขอขอบคุณ
1. ผู้ให้สัมภาษณ์ พระครูธรรมรัต (ธนัญชัย เตชปัญโญ) วัดญาณเวศกวัน กลุ่มอาสาคิลานธรรม
2. เจ้าของภาพ ภาวนา For LOVE ณ นคร #10: https://www.youtube.com/watch?v=jvsAWR9wpB8, YouTube channel: Pam B.

บุคคลสำคัญ
พระปณต คุณวัฑโฒ (พระครูเมธังกร) , พระครูธรรมรัต (ธนัญชัย เตชปัญโญ)

[seed_social]
28 กุมภาพันธ์, 2561

เพราะรักไม่ใช่หน้าที่

วันตรุษจีน ลูกทั้งสี่คนนำซองอั่งเปามาให้แม่ พอช่วงบ่าย แม่โวยวายเพราะหาซองไม่เจอ และคิดว่าต้องมีคนแกล้งขโมยไป ในที่สุดก็พบซองในช่องฟรีซตู้เย็น ทุกคนหัวเราะชอบใจ แต่ภายใต้ความขำขันนั้นต่างก็เริ่มรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติไป
17 มกราคม, 2561

คืนความสุขให้คนในครอบครัว

ปัจจุบัน วิวัฒนาการทางการแพทย์เจริญขึ้นมาก ความรู้ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในการช่วยชีวิตต่างๆ ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยในระยะวิกฤตเพิ่มมากขึ้น
28 กันยายน, 2560

ใจ “บันดาล” แรง

การเดินออกจากสิ่งหนึ่งสำหรับหลายคนอาจหมายถึงการเดินจากไปโดยไม่หันหลังกลับมาเจอกันอีก แต่สำหรับบางคน การเดินออกจากสิ่งหนึ่งหมายถึง...